นครราชสีมาคือประตูสู่อีสานและยังเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจการเกษตร อุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ไหม และการท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นมรดกโลกที่มีคุณค่า แต่สิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ยิ่งกว่านั่นคือ ทรัพยากรมนุษย์ ที่ต้องได้รับการพัฒนาให้มีศักยภาพสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะในถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีสภาวะการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว
สอดคล้องกับเป้าหมายสูงสุดในชีวิตความเป็นครูของ “นายศรัณย์ ศรีมะเริง” ครูชำนาญการพิเศษสอนวิชาดนตรี โรงเรียนเมืองนครราชสีมา ที่อยากเห็นเด็กไทยมีความรู้ความสามารถเทียบเท่าระดับสากล จึงได้นำความรู้ความสามารถด้านดนตรี เป็นสื่อการสอนผ่านรูปแบบ “วงโยธวาธิต” ด้วยความเชื่อว่าดนตรีสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตลูกศิษย์ให้ดีขึ้นได้แน่นอน
“วิชาดนตรีเป็นวิชาที่ต้องใช้ความรู้และทักษะในการเรียน และต้องมีการฝึกปฏิบัติอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และสม่ำเสมอจึงจะประสบผลสำเร็จ ที่สำคัญคือดนตรีคือศาสตร์และศิลป์ชั้นสูง หากเยาวชนไทยได้รับการสอนที่ถูกต้อง และมีพื้นฐานที่มั่นคง พร้อมการปลูกฝังคุณธรรมที่เข้มข้นควบคู่กับการฝึกซ้อมที่มุ่งมั่นเหมาะสมกับวัย จนเกิดเป็นทักษะความชำนาญการดนตรีแล้ว เยาวชนผู้นั้นจะสามารถสร้างตนเองและสังคมให้น่าอยู่อย่างสุนทรีย์” ครูศรัณย์อธิบาย
ด้วยความเชื่อในพลังแห่งดนตรี ตั้งแต่เข้ารับราชการครูในปีพ.ศ.2530 ที่โรงเรียนบ้านทองหลาง สอนชั้นประถมศึกษา ครูศรัณย์จึงได้ใช้ดนตรีเป็นสื่อการสอนสอดแทรกในวิชาการต่างๆ ด้วยการแต่งเป็นเพลงให้เด็กๆ เข้าใจง่าย ถึงจะเป็นวิชาที่ยากก็ตาม เช่น เพลงคณิตศาสตร์ เพลงวิทยาศาสตร์ เป็นต้น แม้กระทั่งย้ายไปสอนที่โรงเรียนบ้านตูมราษฎร์บูรณะ เด็กๆ ก็ยังได้สนุกสนานไปกับเสียงเพลงในทุกวิชาที่ครูศรัณย์เป็นผู้สอน จนกระทั่งปี 2540 เส้นทางการเป็น “ครูสอนดนตรีมืออาชีพ” ยิ่งแจ่มชัดมากขึ้น ณ โรงเรียนเมืองนครราชสีมา
“หลังจากที่มีครูหลายท่านได้เห็นวิธีการสอนโดยใช้ดนตรีเป็นสื่อประกอบ เป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาศักยภาพให้นักเรียนได้ จีงได้รับการชักชวนให้มาช่วยสอนวงเมโลเดียนที่โรงเรียนเมืองนครราชสีมา และได้พบอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งคือ ตำราเรียนดนตรีสากลไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ใช้วิธีการสอนแบบเดิม ในขณะที่ดนตรีสากลในต่างประเทศพัฒนาไปไกลมาก จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดค้นนวัตกรรมที่ชื่อว่า ปัญจวิธีการ เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ความสามารถเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะทักษะปฏิบัติกับเครื่องดนตรีสากลทุกประเภท และเพื่อเป็นพื้นฐานให้สามารถเรียนต่อวิชาดนตรีในระดับที่สูงขึ้นได้” ครูศรัณย์กล่าว
ครูศรัณย์อธิบายถึงนวัตกรรม “ปัญจวิธีการ” ว่า คิดค้นขึ้นโดยใช้แนวคิดทฤษฎีความพร้อมของธอร์นไดค์ (Edward Lee Thomdike นักจิตวิทยาชาวอเมริกา) เพราะการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นครบทุกด้านทั้งด้านสังคม อารมณ์และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ โดยใช้ดนตรีเป็นสื่อในการพัฒนาให้ผู้เรียนเป็นมนุษย์ที่มีความสมดุลในวิธีคิด มีทัศนคติที่ดีและสร้างสรรค์ให้ชีวิตมีคุณภาพ สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยปัญจวิธีการ มีกระบวนการที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ ประกอบด้วย 5 วิธีการ
วิธีที่ 1 สอนให้นักเรียนอ่านโน้ตสากลด้วยตัวเลข สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลจะใช้รูปสัตว์แทนตัวโน้ตต่างๆ วิธีที่ 2 การสอนให้เด็กมีระเบียบแถว ซึ่งเป็นการพัฒนาบุคลิก วิธีที่ 3 การสอนวิธีตีกลองโดยผ่านการฝึกคิด อัตราจังหวะ ควบรวมเทคนิคการจับไม้กลองแบบต่างๆ วิธีที่ 4 สร้างวงโยธวาทิตวิถีพุทธ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด โดยผู้เรียนจะได้ฝึกสมาธิทุกขณะ ทั้งก่อน ขณะฝึก และหลังการฝึก เพื่อควบคุมจิตใจและร่างกายให้สามารถปฏิบัติกิจกรรมที่ต้องการได้ และวิธีที่ 5 กระบวนการพี่สอนน้อง เนื่องจากผู้เรียนมีหลายระดับชั้น
“ปัญจวิธีการที่คิดค้นขึ้น ได้ช่วยยกระดับให้วงโยธวาธิตโรงเรียนเมืองนครราชสีมามีมาตรฐานเทียบเท่าในระดับสากล เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ พิสูจน์ได้จากผลการประกวดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งชนะเลิศมาตอด และยังได้รับเชิญให้ไปบรรเลงร่วมกับวงดนตรีทั่วโลก เช่น การรับเชิญเข้าร่วมบรรเลงในพิธีเปิดงาน The World Exposition Shanghai China 2010 and Shanghai Springinternational Music Festival ที่มหานครเซี่ยงไฮ แต่ประโยชน์หลักๆ ที่ครูคาดหวังให้ลูกศิษย์ได้รับจากปัญจวิธีการคือ ลูกศิษย์เกิดความรู้ที่คงทน มีทักษะขั้นชำนาญ สามารถนำไปปฏิบัติกับเครื่องดนตรีสากลได้ เกิดทักษะการคิดวิเคราะห์และวางแผนที่สามารถนำไปสร้างชีวิต สร้างครอบครัวให้มีความสุขสมบูรณ์ และต่อยอดไปสู่การเสริมสร้างความสุขให้กับผู้คนในสังคม และช่วยสร้างชาติบ้านเมืองให้งดงามด้วยพลังแห่งดนตรีต่อไป” ครูศรัณย์เผย
ด้าน นายโกสินทร์ สืบประสิทธิ์วงศ์ ศิษย์เก่าโรงเรียนเมืองนครราชสีมา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานสมาพันธ์วงโยธวาทิตเอเชีย เผยความในใจถึงครูศรัณย์ว่า ตนนั้นขาดทั้งพ่อและแม่เนื่องจากทั้ง 2 เสียชีวิตตั้งแต่ตนยังเด็ก จึงดำรงชีวิตเพียงลำพังอย่างยากลำบาก จนกระทั่งได้พบครูศรัณย์ที่คอยดูแลสั่งสอน ให้ความรู้และให้โอกาส อีกทั้งยังเป็นกำลังใจให้ให้ต่อสู้กับชีวิตมาตลอด
“วิธีการสอนของครูช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกศิษย์ทุกคน โดยถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้และทักษะให้อย่างเต็มที่ ซึ่งสิ่งที่ครูศรัณย์พร่ำสอนลูกศิษย์เสมอมาคือ เมื่อเรียนจบไปแล้วนักเรียนต้องเก่งกว่าครู หรือ อาชีพที่ครูอยากให้ศิษย์เป็นคือ ครูสอนดนตรีมืออาชีพ ไม่ใช่อาชีพนักดนตรี คำสอนเหล่านี้เองคือทำให้ผมมีเป้าหมายในชีวิต กล้าเผชิญกับทุกอุปสรรค จนในที่สุดผมได้ใช้ความสามารถด้านดนตรีสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยได้อย่างภาคภูมิใจ” นายโกสินทร์อธิบาย
ปัจจุบัน ครูศรัณย์ถ่ายทอดปัญจวิธีการให้แก่โรงเรียนที่มีความสนใจพัฒนาลูกศิษย์ด้วยดนตรี โดยเชื่ออย่างสุดหัวใจว่า เด็กทุกคนสามารถพัฒนาได้ จึงควรได้รับโอกาสเรียนรู้ตามศักยภาพและก้าวไปสู่การเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น ไม่ว่าลูกศิษย์คนนั้นจะอยู่ในสังคมหรือฐานะใดก็ตาม ซึ่งผลงานที่ประจักษ์อย่างกว้างขวางนี้เอง ครูศรัณย์ ศรีมะเริง จึงได้รับการเสนอชื่อเป็นหนึ่งใน “ครูผู้สมควรได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” ประจำปี 2560 และได้รับการพิจารณาให้ได้รับ รางวัลคุณากร จากมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ในที่สุด
“รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” จากมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และ กระทรวงศึกษาธิการ นับเป็นรางวัลระดับนานาชาติ จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระปรีชาด้านการศึกษา โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตตั้งนาม “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ สร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศต่างๆ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และติมอร์ เลสเต รวม 11 ประเทศ ประเทศละ 1 รางวัล โดยจัดมอบรางวัลในทุก 2 ปี ซึ่งในปีนี้นับเป็นครั้งที่ 2 โดยจะพระราชทานรางวัลในวันที่ 11 ตุลาคม 2560
ขอบคุณเนื้อหาจาก hommali.p@gmail.com