สพฐ.เฝ้าระวังความปลอดภัยดูแลช่วยเหลือนักเรียน ย้ำไม่ได้มีหน้าที่แค่จัดการศึกษา
วันนี้(29พ.ค.)ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รับผิดชอบนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานกว่า 7 ล้านคน โรงเรียนกว่า 3 หมื่นโรง เพื่อให้เด็กวัยการศึกษาภาคบังคับทุกคนต้องมีที่เรียนโดยรวมถึงการศึกษาปฐมวัยและการศึกษาพิเศษ ซึ่งมีเด็กด้อยโอกาส เด็กพิการด้วย แต่สพฐ.ก็ไม่ได้มีหน้าที่เพียงจัดระบบการดูแลเด็กเฉพาะเรื่องการศึกษาเท่านั้น แต่ต้องดูแลเรื่องทักษะชีวิต ความปลอดภัย สิทธิเด็ก การช่วยเหลือดูแลเด็กเฉพาะด้าน ซึ่ง สพฐ.ได้มีการวางระบบไว้เป็นอย่างดี โดยมีศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน (ฉก.ชน.) ทำหน้าที่ดูแลเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ โดยจะดูแลเรื่องความปลอดภัยของเด็กจากเรื่องต่าง ๆ เรื่องของการทะเลาะวิวาท การเดินทาง หรือ แม้แต่กรณีเด็กอยู่ในโรงเรียนแล้วเกิดอุบัติภัยจากเครื่องเล่นก็ต้องเข้าไปดูแล
ดร.อำนาจ กล่าวว่า สพฐ.ได้วางมาตรการเฝ้าระวังและดูแลช่วยเหลือนักเรียนโดยได้แจ้งให้โรงเรียนรับทราบ เพื่อเตรียมความพร้อมตั้งแต่เดือนเมษายนหรือก่อนเปิดเทอมแล้ว เพราะสพฐ.ต้องดูแลนักเรียนหลายล้านคน จึงต้องจัดรูปแบบวิธีการที่จะรองรับเรื่องต่าง ๆ นี้ในหลายมิติ เพื่อให้วันเปิดเทอมเป็นวันที่ทุกฝ่ายมีความพร้อมตามภารกิจของตนเอง ทั้งนักเรียนทุกคนต้องพร้อมที่จะเรียน ครูก็ต้องพร้อมในการจัดการเรียนการสอน ผู้บริหารโรงเรียนก็พร้อมที่จะดูแลเรื่องของการบริหารจัดการโรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนเป็นโรงเรียนที่สมบูรณ์ ซึ่งการเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2560 ก็ผ่านไปได้ด้วย
"อย่างไรก็ตามในการดูแลเด็กนั้น สพฐ.ย้ำการวางกรอบเรื่องการสร้างความรู้ การรับรู้ ความเข้าใจ การประชุมสัมพันธ์ โดยเฉพาะการสื่อสารที่ต้องมีการกระตุ้นเตือน เพราะเด็กทุกคนมีความหมาย ต้องได้รับการดูแลอย่างดี เนื่องจากเด็กคือกำลังของชาติ ถ้าพวกเขาเป็นคนดี คนเก่ง มีความสุขในการเรียน และมีความปลอดภัยในชีวิตด้วย ก็จะทำให้เขาอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ดังนั้นการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องของความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ต้องกระตุ้นเตือนให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญ และมีวิธีการที่จะรับมือเมื่อเกิดภัย เรียกว่าต้องตั้งอยู่บนความไม่ประมาท"ดร.อำนาจกล่าวและว่า นอกจากนี้ปัญหาการทะเลาะวิวาทของเด็กทั้งในและนอกโรงเรียน การล่วงละเมิดทางเพศ ปัญหายาเสพติด หรือแม้แต่ปัญหาในการเกิดปัญหาการเรียน ก็เป็นเรื่องที่ สพฐ.ต้องดูแลและช่วยเหลือ เพื่อให้เด็กปลอดภัยจากสิ่งเหล่านี้
ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.กล่าวย้ำว่า สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ต้องเน้นย้ำ คือ การช่วยเหลือกันและกัน การให้เด็กได้ช่วยเหลือกัน เพื่อนช่วยเพื่อน พี่ช่วยน้อง และสุดท้ายครูต้องดูแลเอาใจใส่นักเรียนอย่างจริงจัง รวมถึงชุมชน สังคมก็ต้องช่วยกันดูแลระแวดระวัง ซึ่งหากสามารถทำได้อย่างเป็นระบบเชื่อมั่นว่าเด็กไทยวันนี้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ ที่จะมาช่วยสร้างสังคมไทยที่มีแต่ความสงบสุขต่อไป
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม 2560 เวลา 08.45 น.