ศธ.เป็นปลื้ม นักเรียนป.6 อนุบาลประจำจังหวัด ทำคะแนนโอเน็ตเต็มร้อยเกือบพันคน แนะขยายผลสอนด้วยActive Learning ระดับชั้นอื่นให้เด็กลงมือทำและคิดอย่างเป็นระบบ
วันนี้(19 พ.ค.)ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด(ประเทศไทย)ได้มารายงานผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต ของนักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด ว่า ปีการศึกษา 2559 มีนักเรียนสามารถทำคะแนนเต็ม 100 ในบางวิชาได้กว่า 770 คน ซึ่งเป็นสถิติที่เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 4 ปี ถือเป็นความสำเร็จของโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดที่ได้ปฏิรูปแนวทางการจัดการเรียนการสอนเป็นแบบการเรียนรู้ด้วยกระบวนการ หรือ Active Learning และยังสอดคล้องกับนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้มีการจัดการเรียนการสอนแบบActive Learning ด้วย
“จากความสำเร็จดังกล่าวผมคิดว่ากระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ควรนำวิธีการเรียนรูปแบบดังกล่าวไปขยายผลในระดับอื่น ๆ โดยเฉพาะควรนำไปใช้กับการจัดการเรียนการสอนในกลุ่มสะเต็มศึกษา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ด้วย”ปลัด ศธ.กล่าว
ดร.สำเริง กุจิรพันธ์ นายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด(ประเทศไทย) กล่าวว่า หลังจากที่สมาคมได้ลงนามความร่วมมือกับสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ(พว.)ในการพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยการปรับแนวคิดการจัดการเรียนการสอนที่เน้นเนื้อหา มาเป็นเน้นการปฏิบัติผ่านการใช้กิจกรรมการเรียนรู้ พานักเรียนคิดและทำ เพื่อให้เข้าใจในสิ่งที่ตนเองคิดและทำ จนเกิดเป็นองค์ความรู้ของตนเอง หรือการเรียนแบบ Active Learningส่งผลให้นักเรียน เรียนสนุกขึ้น มีความสุขมากขึ้น เกิดความรู้ระดับความคิดรวบยอดและหลักการมากขึ้น สามารถนำหลักการไปวิเคราะห์ข้อสอบโอเน็ตได้ดีขึ้น ส่งให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนอนุบาลประจำจังหวัดดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะผลการสอบโอเน็ตที่ทำคะแนนเต็มร้อย ในบางวิชาเพิ่มขึ้นตามลำดับจากปี 2556 จำนวนกว่า 300 คน เป็น 500 กว่าคนในปี 2557 แล้วเป็น 600 กว่าคนในปี 2558 จนมาถึงปี 2559 ได้สูงถึงเกือบ 800 คน
“หลังจากที่พิสูจน์ได้แล้วว่าการปรับรูปแบบการเรียนการสอนมาเป็นแนว Active Learningทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กดีขึ้น ทางสมาคมและโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดจึงได้มีการขับเคลื่อนรูปแบบการจัดการเรียนการสอนนี้ไปสู่โรงเรียนอนุบาลเขตพื้นที่อนุบาลประจำอำเภอ ในหลาย ๆ จังหวัดแล้ว โดยคาดหวังว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนของการพัฒนาศักยภาพโรงเรียนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลได้ทั้งประเทศ”ดร.สำเริง กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม 2560 เวลา 12.39 น.