รองเลขาธิการ CHES แนะปรับลดเวลาเรียนครูลง พร้อมจำแนกหลักสูตรผลิตครูประถมฯ-มัธยมฯ เสนอครูยุคใหม่ต้องคิดวิเคราะห์ สอนเด็กต่อยอดนวัตกรรมได้ ที่สำคัญต้องมีจิตวิญญาณครู
วันนี้(17พ.ค.) ผศ.ดร.พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค รองเลขาธิการศูนย์ประสานงานสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หรือCHESกล่าวว่า ตามที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กำลังทบทวนมาตรฐานวิชาชีพครู นั้น ตนเห็นว่าควรปรับระยะเวลาการเรียนในหลักสูตรวิชาชีพให้มีความเหมาะสม จากที่ปัจจุบันการผลิตครูระดับปริญญาตรีจะใช้เวลาเรียน 5 ปี ซึ่งมากกว่าต่างประเทศ โดยบางประเทศใช้เวลาเรียนเพียง 3 ปี ก็สามารถผลิตครูได้เหมือนกัน และในหลักสูตรการผลิตครูควรจำแนกให้ชัดเจนว่า ครูที่ผลิตมานั้น จะสอนนักเรียนระดับประถมศึกษา หรือ มัธยมศึกษา เนื่องจากบริบทของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ครูประถมศึกษาส่วนใหญ่จำเป็นจะต้องสอนได้หลายวิชา เน้นการอ่านออก เขียนได้ และทักษะชีวิตที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ส่วนครูมัธยมศึกษา ต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งอาจจะต้องเป็นครูที่จบสาขาเฉพาะทาง
ผศ.ดร.พัทธนันท์ กล่าวต่อไปว่า ทักษะที่สำคัญที่ครูในยุคนี้ต้องมี คือ 1.ทักษะการคิดวิเคราะห์ การประยุกต์เพื่อต่อยอดให้เป็นนวัตกรรม ต้องเป็นผู้กระตุ้นผู้เรียนให้อยากเรียนรู้ และสามารถส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดเป็นนวัตกรรมได้ 2.การจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนที่มีเด็กพิเศษร่วมกับเด็กปกติ 3.ทักษะการบูรณาการเทคโนโลยีและแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย 4.ทักษะการแก้ปัญหาผู้เรียนเชิงวิทยาศาสตร์ ที่ไม่ใช่การทำวิจัย5บทเหมือนวิทยานิพนธ์ และ5.จิตวิญญาณแห่งความเป็นครูที่ดีที่มีต่อผู้เรียน.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 17 พฤษภาคม 2560 เวลา 10.42 น.