บอร์ดคุรุสภาอนุมัติออกตั๋วครูกว่า 3.7 หมื่นราย พร้อมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ รับรองปริญญาทางการศึกษา ป.ตรี 4 คณะ บัณฑิตศึกษา 1 คณะ "กมล" เผยความคืบหน้าจัดตั้งสถาบันคุรุพัฒนา เปิดตัวทางการ 5 ก.ค.นี้ เห็นชอบให้สิทธิ์ครูและบุคลากรทางการศึกษาของศูนย์การศึกษาพิเศษ ได้ศึกษาหลักสูตร ป.บัณฑิตตาม สพฐ.เสนอ
นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา (เลขาฯ สกศ.) ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการคุรุสภาว่า ที่ประชุมได้มีมติอนุมัติออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา จำนวน 37,870 ราย และอนุมัติต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา จำนวน 10,047 ราย พร้อมทั้งได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการประเมินเพื่อการรับรองปริญญาทางการศึกษา แทนคณะอนุกรรมการฯ ชุดเก่าที่หมดวาระไปแล้ว ระดับปริญญาตรี จำนวน 4 คณะ ได้แก่ คณะที่ 1 ประเมินมหาวิทยาลัยของรัฐและมหาวิทยาลัยราชภัฏ มีนายสรรค์ วรอินทร์ เป็นประธาน คณะที่ 2 ประเมินมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ มีนายพฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ เป็นประธาน คณะที่ 3 ประเมินมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และสถาบันการพลศึกษา มีนายศักดิ์ กองสุวรรณ เป็นประธาน และคณะที่ 4 ประเมินมหาวิทยาลัยเอกชน มีนายอมรชัย ตันติเมธ เป็นประธาน ทั้งนี้ ในส่วนคณะอนุกรรมการประเมินเพื่อการรับรองปริญญาทางการศึกษา ระดับบัณฑิตศึกษา จำนวน 1 คณะ มีนายไพฑูรย์ สินลารัตน์ เป็นประธานอนุกรรมการ
นายกมลกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับทราบความก้าวหน้าเรื่องการจัดตั้งสถาบันคุรุพัฒนา ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงานเรื่องโครงสร้างของสถาบัน และการสรรหาคณะกรรมการบริหารสถาบันคุรุพัฒนา รวมถึงการดำเนินการขอความอนุเคราะห์ไปยังบริษัท google เพื่อขอจดโดเมนเนมของสถาบันคุรุพัฒนา ภายใต้ชื่อ "kurupattana.ac.th" และใช้สำหรับการเผยแพร่ความรู้ เป็นศูนย์กลางของข้อมูล รวมทั้งการติดต่อสื่อสารกับผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ส่วนสถานที่ในการจัดตั้งสถาบันดังกล่าวนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณา
อย่างไรก็ตาม สถาบันคุรุพัฒนาจะดำเนินการเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 กรกฎาคม ซึ่งถือเป็นวันดี เนื่องจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมอบแนวทางการพัฒนาครูในวันดังกล่าวด้วย และที่ประชุมยังเห็นชอบให้สิทธิ์ครูและบุคลากรทางการศึกษาของศูนย์การศึกษาพิเศษ ได้ศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต) และให้ศูนย์การศึกษาพิเศษทั่วประเทศที่มีอยู่ 118 แห่ง เป็นสถานศึกษาฝึกประสบการณ์สำหรับการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เสนอ เนื่องจากที่ผ่านมาครูของศูนย์การศึกษาพิเศษจะอนุญาตให้มีใบอนุญาตปฏิบัติการสอนชั่วคราว แต่ สพฐ.เห็นว่าครูกลุ่มนี้น่าจะได้รับโอกาสให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเหมือนกับครูในโรงเรียนทั่วไป จะได้ไม่เสียสิทธิ์ ดังนั้นจึงเสนอให้ครูกลุ่มนี้ได้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูด้วย โดยการผลักดันให้ครูมาเรียนหลักสูตร ป.บัณฑิต ตามหลักเกณฑ์ที่คุรุสภากำหนด.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยโพสต์ วันที่ 16 พฤษภาคม 2560