750บาทต่อเดือนช่วยลดภาระรร.เอกชนดูแลนร.กว่า2ล้าน
ครม.เห็นชอบเพิ่มเงินสมทบเงินเดือนครู รร.เอกชนอีก 780 ล้านบาทต่อปี หรือ 750 บาทต่อเดือน เพื่อช่วยลดภาระรายจ่ายโรงเรียนเอกชนในฐานะดูแล นร.กว่า 2 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 21% ของ นร.ทั้งประเทศ
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเพิ่มเงินสมทบเป็นเงินเดือนครูโรงเรียนเอกชน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โดยการอุดหนุนตามรายหัวนักเรียนในโรงเรียนอีก 780 ล้านบาทต่อปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ปัจจุบันโรงเรียนเอกชนจ่ายเงินเดือนครูเฉลี่ยคนละประมาณ 17,300 บาท ในจำนวนนี้รัฐบาลอุดหนุนหัวละประมาณ 14,300 บาท ทำให้เอกชนต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเงินเดือนส่วนต่างประมาณ 3,000 บาทต่อคน ทำให้ทางโรงเรียนต้องนำเงินที่เป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนมาใช้เพื่อเป็นเงินเดือนครู เพราะหากไปขึ้นค่าธรรมเนียมการสอนก็จะกระทบกับผู้ปกครอง ดังนั้นการที่รัฐบาลอุดหนุนเงินในส่วนนี้ก็จะทำให้โรงเรียนสามารถมีเงินไปพัฒนาการเรียนการสอน และไม่เป็นภาระต่อผู้ปกครอง
นายชัยพฤกษ์กล่าวต่อว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เสนอขอเพิ่มในส่วนของเงินเดือนครูไปยัง ครม. เท่าที่โรงเรียนเอกชนจ่ายเงินเดือนครูจริง โดยใช้งบเพิ่มประมาณ 3,137 ล้านบาทต่อปี แต่ ครม.ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบให้อุดหนุนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่อุดหนุนอยู่เดือนละประมาณ 14,300 บาท เป็นอุดหนุน 15,050 บาท เท่าอัตราเงินเดือนบรรจุข้าราชการที่จบปริญญาตรี หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 750 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งจะทำให้โรงเรียนจ่ายส่วนต่างลดลง ทั้งนี้ ปัจจุบันเอกชนมาช่วยรัฐจัดการศึกษาสายสามัญศึกษาให้แก่นักเรียน 2,062,850 คน ใน 3,604 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 21.60 ของจำนวนนักเรียนทั้งประเทศ และหากจำแนกเป็นค่าใช้จ่ายต่อหัวนักเรียนจะพบว่า รัฐต้องจ่ายเงินอุดหนุนในส่วนของนักเรียนโรงเรียนรัฐบาลหัวละประมาณ 39,000 บาทต่อคนต่อปี ขณะที่นักเรียนโรงเรียนเอกชน รัฐจ่ายหัวละประมาณ 15,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งเหตุผลที่ต้องอุดหนุนนักเรียนโรงเรียนรัฐมากกว่า เพราะเงินเดือนครูของรัฐบาลสูงกว่า
"ที่ประชุม ครม.ยังได้กำชับให้ ศธ.ดูแลให้การบริหารจัดการเพื่อให้ครูโรงเรียนเอกชนได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าวุฒิการศึกษาด้วย สำหรับการเพิ่มเงินอุดหนุนในส่วนอื่นๆ ที่ ศธ.เสนอขออนุมัติจาก ครม.ไป เช่น เงินสมทบค่าธรรมเนียมโรงเรียนการกุศล, เพิ่มปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน และช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งใช้งบประมาณเพิ่ม 4,170.32 ล้านบาทต่อปีนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง" ปลัด ศธ.กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยโพสต์ วันที่ 10 พฤษภาคม 2560