เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีมหาวิทยาลัยเอกชนจำนวน 10 แห่งจัดการศึกษาไม่เป็นไปตามมาตรฐาน แบ่งเป็น 1.หลักสูตรนอกสถานที่ตั้ง 78 หลักสูตรใน 5 สถาบัน โดยขอปิดหลักสูตรไปแล้ว 56 หลักสูตร เหลือ 22 หลักสูตร ซึ่ง สกอ.ขอให้งดรับนักศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2559 ในจำนวนนี้มี 3 หลักสูตรขอเปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2560 ซึ่งมหาวิทยาลัยจะต้องปรับปรุงการเรียนการสอนให้เป็นไปตามมาตรฐาน และ 2.หลักสูตรในที่ตั้ง 20 หลักสูตร ใน 8 สถาบัน โดยสภามหาวิทยาลัยขอปิดไปแล้ว 3 หลักสูตร แจ้งให้งดรับนักศึกษา 3 หลักสูตร แก้ไขหลักสูตรตามเอกสาร 9 หลักสูตร รอดูการดำเนินการ 5 หลักสูตร โดย 2 ใน 5 หลักสูตรมีปัญหา จัดการศึกษาไม่เป็นไปตามที่สภาวิชาชีพ กำหนด โดยรับนักศึกษาเกินกว่าที่สภาวิชาชีพกำหนด ส่วนอีก 2 หลักสูตร อยู่ระหว่างจัด ส่งเอกสารนั้นว่า มีความก้าวหน้าเพิ่มเติม โดยมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาได้เข้ามาพูดคุย ล่าสุด 20 หลักสูตรใน 8 มหาวิทยาลัยซึ่งเดิมขอปิดไปแล้ว 3 หลักสูตร แจ้งขอปิดเพิ่มอีก 1 หลักสูตรแต่ขอให้นักศึกษาที่ค้างท่อเรียนจนจบทั้งหมดก่อน ส่วน 9 หลักสูตรที่ สกอ.ให้ปรับปรุงตามเอกสาร มี 1 แห่งเสนองดรับนักศึกษาและขอปิดหลักสูตร เหลือ 8 หลักสูตรอยู่ระหว่างการปรับปรุง ส่วนหลักสูตรนอกสถานที่ตั้ง 78 หลักสูตรที่จัดการศึกษาไม่ได้มาตรฐานใน 5 สถาบัน ข้อมูลยังคงเดิม คือขอปิดไปแล้ว 56 หลักสูตร งดรับนักศึกษา 22 หลักสูตร โดยตนจะเสนอข้อมูลให้ กกอ. รับทราบความคืบหน้าในการประชุม กกอ.เดือนพฤษภาคมนี้
เลขาธิการ กกอ.กล่าวต่อว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนยังสรุปแนวทางแก้ไขปัญหามหาวิทยาลัยทั้ง 10 แห่งให้คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธาน กกอ. รับทราบเพื่อเสนอให้ นพ. ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ใช้อำนาจรัฐมนตรีว่าการ ศธ. แก้ปัญหาแล้ว อย่างไรก็ตาม การดำเนินการครั้งนี้ ถือว่าเป็นไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักกษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2557 (ฉบับชั่วคราว) เรื่องการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งให้อำนาจ กกอ.ในการเสนอแนวทางแก้ปัญหาให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณา
"ที่ผ่านมา กกอ.มีมติไปแล้วว่าจะดำเนินการอย่างไรกับมหาวิทยาลัยทั้ง 10 แห่งที่จัดการศึกษาไม่ได้มาตรฐาน แต่อนุญาตให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เปิดเผยได้เฉพาะรายชื่อมหาวิทยาลัยและจำนวนหลักสูตรที่มีปัญหาเท่านั้น ไม่อนุญาตให้เปิดเผยแนวทางการดำเนินการ ซึ่งผมได้จัดทำเอกสารแนวทางการดำเนินการส่งให้ประธาน กกอ. ลงนามเพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการ ศธ.แล้ว จากนี้ขึ้นอยู่กับ กกอ.ว่าจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เมื่อไร ซึ่งตามอำนาจของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.สามารถดำเนินการได้ 2 แนวทาง คือ 1.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตั้งคณะกรรมการควบคุม และ 2.ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 ซึ่งมีโทษตั้งแต่ตักเตือน งดรับนักศึกษาเป็นรายวิชา เพิกถอนวิทยฐานะระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือยกเลิกใบอนุญาตจัดตั้ง ซึ่งส่วนตัวคิดว่าแม้ กกอ.จะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ดำเนินการกับมหาวิทยาลัยทั้ง 10 แห่ง การดำเนินการก็จะต้องล้อตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 อยู่ดี" นายสุภัทรกล่าว
เลขาธิการ กกอ.กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีผู้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ผ่านทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนการออกคำสั่ง คสช.ตามมาตรา 44 เพื่อแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐที่เป็นส่วนราชการ จากผู้เกษียณได้ ซึ่ง สปน.ได้ส่งหนังสือให้ สกอ. เพื่อรับทราบข้อมูลนั้น ตนเห็นสำเนาหนังสือดังกล่าวแล้วแต่คงไม่ทบทวนอะไรทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งใน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) และข้อบังคับในการสรรหาอธิการบดีของมหาวิทยาลัยโดยทั่วไปไม่ได้กำหนดไว้ ทุกคนมีสิทธิแสดงความเห็น แต่ขอให้อ่านข้อกฎหมายให้เข้าใจและดำเนินการตามนั้น
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก มติชน ฉบับวันที่ 9 พ.ค. 2560 (กรอบบ่าย)