"ธีระเกียรติ" หารือ "เมียว เตน จี" รมว.ศธ.เมียนมา ชี้แม้ไทยจะให้บทเรียนตัวอย่างการศึกษาไทย แต่เมียนมาก็ปรับตัวภาษาอังกฤษก้าวหน้ากว่า โดยชั้น ม.ปลายเรียน-สอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ส่วน ม.ต้นใช้สองภาษา ชี้ถ้าไทยยังนิ่งไม่ขยับตัว เพื่อนบ้านจะแซงหน้าได้
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ในฐานะประธานสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สภาซีเมค) เดินทางตรวจเยี่ยมศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยการศึกษาประวัติศาสตร์และประเพณีของซีมีโอ (CHAT) ที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา พร้อมได้เข้าเยี่ยมคารวะและหารือข้อราชการกับนายเมียว เตน จี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของเมียนมา โดย นพ.ธีระเกียรติกล่าวภายหลังการหารือว่า จากข้อมูลตัวเลขพบว่าการศึกษาของเมียนมามีลักษณะคล้ายของประเทศไทยมาก ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเด็ก ครู โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล และจำนวนเด็ก ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการของเมียนมาก็มีความมุ่งมั่นอย่างมากที่จะปฏิรูปการศึกษาของเขา โดยได้วางแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาในหลายเรื่องที่สำคัญ เช่น การมีทางเลือกให้เด็กได้เข้าถึงการศึกษา ปฏิรูประบบอาชีวศึกษาและการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปฏิรูปการพัฒนาครู และปฏิรูประบบการประเมินและประกันคุณภาพ เป็นต้น
"ในส่วนของ ศธ.ไทยเองก็ได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินการในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องการประกันคุณภาพ เราได้แนะนำให้เมียนมาดูบทบาทเรียนของประเทศไทย อย่าส่งกระดาษไปให้ครูเยอะ เพราะถ้าดำเนินการอย่างไม่ระวังมัน ทำให้การประเมินคุณภาพการศึกษาติดรูปแบบ ทำให้ไม่ได้ประเมินอย่างแท้จริง เป็นต้น ซึ่งจากการหารือครั้งนี้ถือว่าเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเมียนมาให้มีความแน่นแฟ้นมากขึ้น"
นพ.ธีระเกียรติกล่าวอีกว่า ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของเมียนมาคือ เพิ่งจะเปิดประเทศได้ไม่นาน แสดงให้เห็นถึงบทเรียนสำคัญว่า การที่เราเลือกที่จะปิดตัวเองไม่ฟังใคร หรือมีการผูกขาด ปิดกั้นความคิด และไม่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันทางความคิดในเรื่องต่างๆ ก็จะทำให้คุณภาพของเรื่องนั้นๆ ต่ำลง และการไม่ยอมรับความเห็นของคนอื่น ก็จะทำให้เกิดความล้าหลัง อีกทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของเมียนมา และผู้บริหารทั้งหมดเป็นนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย ซึ่งหลายประเทศก็ใช้นักวิชาการเข้ามาดูแลเรื่องการศึกษา นั่นแสดงให้เห็นว่าฝ่ายการเมืองจะไม่ได้เข้ามายุ่งกับด้านการศึกษามากนัก ปล่อยให้นักการศึกษาเป็นผู้บริหารจัดการ นอกจากนี้ การตั้งใจที่จะปฏิรูปการศึกษาของเมียนมาเป็นไปตามความเห็นของทุกฝ่ายที่เห็นด้วยอย่างสอดคล้อง ไม่ขัดซึ่งกันและกันด้วย
รมว.ศธ.กล่าวต่อว่า จากที่ตนได้เดินทางตรวจเยี่ยมประเทศสมาชิกสภาซีเมค พบว่าในบางประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ เมียนมา เป็นต้น จะจัดการเรียนการสอนในระดับมัธยมปลายโดยใช้ภาษาอังกฤษทุกวิชา ส่วนในระดับประถมและมัธยมตอนต้นจะจัดการเรียนการสอนแบบ 2 ภาษา ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเรื่องของภาษาเป็นเรื่องที่สำคัญ และเมียนมายังประกาศให้มหาวิทยาลัยของเมียนกลับมาใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งสะท้อนว่าการให้ความสำคัญกับเรื่องภาษาเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งถ้าประเทศเรายังอยู่เฉยๆ วันหนึ่งประเทศเพื่อนบ้านก็จะแซงเราไป ดังนั้นเราจะต้องมองในภาพใหญ่ ดำเนินการในระดับภูมิภาค ต้องดูว่าเราจะเรียนรู้อะไรจากประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศเพื่อนบ้านได้อะไรจากเรา และจะไปขับเคลื่อนร่วมกันไปอย่างไร.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยโพสต์ วันที่ 1 พฤษภาคม 2560