โฆษก ศธ. ย้ำ นโยบาย “หนังสือยืมเรียน” แทนหนังสือเรียนแจกฟรีรายคน ไม่กระทบนโยบายเรียนฟรี เรียนดี 15 ปี ไม่มีการทุจริต ย้ำ เป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ฝึกวินัยเด็ก นร. ระบุ เน้นหนังสือเรียนที่ไม่ต้องปรับเนื้อหาบ่อย
จากกรณีภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของชาติ (ภตช.) ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทบทวนนโยบายแจกหนังสือเรียนฟรีรายบุคคล เป็นแจกให้ “หนังสือยืมเรียน” ในปีการศึกษา 2560
วันนี้ (26 เม.ย.) ดร.กมล รอดคล้าย โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายให้ดำเนินงานตามแนวทางดังกล่าว โดยยึดผลประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประเทศชาติเป็นหลัก และไม่ได้กระทบนโยบายเรียนฟรี เรียนดี 15 ปี อย่างมีคุณภาพแต่อย่างใด ซึ่งการดำเนินการยืมหนังสือยืมเรียนเป็นวิชาที่ไม่ต้องปรับปรุงเนื้อหาบ่อย หากไม่ชำรุดเสียหายมากก็ให้รุ่นน้องใช้ยืมเรียนต่อได้ สำหรับวิชาที่ต้องมีการปรับปรุงเนื้อหาให้ทันสมัยก็ต้องซื้อทดแทนหนังสือเดิมที่ชำรุดอยู่แล้ว ไม่ใช่ให้เด็กใช้หนังสือที่มีเนื้อหาเก่า กรณีเด็กต้องการจดบันทึกความจำในหนังสือสามารถทำได้เหมือนเดิม และเป็นแนวทางสากลที่ประเทศชั้นนำดำเนินการอยู่แล้ว เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม นอกจากประหยัดงบประมาณแล้วยังเป็นการฝึกเด็กให้รู้จักรักษาวินัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ถึงรุ่นน้องอีกด้วย
ดร.กมล กล่าวว่า การปรับแนวทางมาใช้หนังสือยืมเรียน เน้นย้ำว่า ไม่มีการทุจริตแต่อย่างใด เพราะเป็นกระบวนการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่สามารถใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสามารถประหยัดเงินซื้อหนังสือเรียนได้เกินร้อยละ 50 ทาง ศธ. สามารถนำส่วนต่างไปซื้อหนังสือเรียนที่มีเนื้อหาทันสมัยสนับสนุนห้องสมุดสถานศึกษาเพิ่มขึ้น และงบประมาณส่วนที่เหลือสามารถจัดซื้อสื่ออุปกรณ์การเรียนการสอนที่ดีขึ้น ซึ่งตัวเด็กคือผู้ใช้ประโยชน์สูงที่สุดจากหนังสือเรียนและได้เรียนฟรีอย่างมีประสิทธิภาพตามนโยบายของรัฐบาล ดังนั้น ศธ. ขอให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่าการดำเนินแนวทางหนังสือยืมเรียนได้ประโยชน์อย่างสูงสุด
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก MGR Online วันที่ 26 เมษายน 2560