"สุเทพ" เผย สอศ. ขอแยกเกณฑ์ทำวิทยฐานะครูเอง ชี้การทำงานแตกต่างจากหน่วยงานอื่น เร่งยกร่างให้ทันประกาศใช้ 5 ก.ค.นี้
วันนี้(24 เม.ย.)ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ตนได้แต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อยกร่างหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีหรือเลื่อนวิทยฐานะ ซึ่งจะเป็นหลักเกณฑ์เฉพาะสำหรับผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จากเดิมที่ใช้หลักเกณฑ์เดียวกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยจะเร่งยกร่างให้แล้วเสร็จภายใน 30 เม.ย. โดยการยกร่างได้มีการหารือร่วมกับคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จากนั้นจะนำร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ก่อนเสนอให้ก.ค.ศ.พิจารณา ทั้งนี้ตนตั้งใจจะให้ร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวประกาศใช้ได้ทันกับร่างหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีหรือเลื่อนวิทยฐานะใหม่ที่ก.ค.ศ.จะประกาศใช้วันที่ 5 ก.ค.นี้
ดร.สุเทพ กล่าวต่อไปว่า ตนได้หารือ กับนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการแล้ว ซึ่งรมว.ศธ.ก็เห็นชอบ เพราะมองว่าการทำงานของสอศ. และสพฐ. มีความแตกต่างกัน โดยสอศ. จะเน้นปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี อีกทั้งลักษณะการทำงานในสาขาต่าง ๆ ของสอศ.เองก็ยังมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก เช่น ช่างทอง ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีวิธีการสอนไม่เหมือนกัน ดังนั้นการประเมินวิทยฐานะก็ควรสอดคล้องกับลักษณะการทำงานของแต่ละสาขาด้วย ดังนั้นต่อไปการประเมินวิทยฐานะของสอศ. จะเน้นผลงานเชิงประจักษ์ และดูระยะเวลาในการปฏิบัติงานเป็นสำคัญด้วย
"บุคลากรของสอศ.ที่มีวิทยฐานะระดับเชี่ยวชาญ มีผู้บริหาร 28 ราย ศึกษานิเทศก์ 1 รายและครู 79 ราย จากจำนวนครูทั้งหมดกว่า 16,000 ราย ส่วนวิทยฐานะระดับที่สูงกว่านี้ยังไม่มี เพราะธรรมชาติของสอศ. จะเน้นทางปฏิบัติ หากให้ทำผลงานเป็นเอกสารเพื่อขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ ส่วนใหญ่จะไม่ชอบ" ดร.สุเทพ กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 24 เมษายน 2560 เวลา 16.42 น.