กฎแห่งความขัดแย้ง และการอยู่ร่วมกัน
By Benz
ตอนนี้ ถึงจะอยากแต่ก็ยากที่จะเลี่ยงประเด็นเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง
ทางออกของการเมืองไทยในขณะนี้นั้นดูมืดมนเหลือเกิน แม้จะมีบุคคลจากหลายฝ่าย หลายส่วนพยายามเข้าไปช่วยเหลือ ทั้งในรูปแบบของการแสดงความคิดเห็น จนไปถึงการเสนอเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย ก็ไม่อาจเยียวยาให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่แตกออกเป็นสองฝ่ายยุติความขัดแย้งได้
หากจะมองถึงสาเหตุพื้นฐานแล้ว แม้จะไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น แต่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเป็นเรื่องปกติของการอยู่ร่วมกัน
สัตว์สังคมนั้นขึ้นชื่อว่าอยู่กันเป็นสังคม คืออยู่ร่วมฝูง ร่วมมือกันในการทำอะไรต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ตามสัตว์สังคมไม่ได้แปลว่าจะรักสงบ และไม่มีความขัดแย้ง ตามธรรมชาตินั้น แม้จะเป็นสัตว์ชนิดเดียวกันแต่เป็นคนละฝูง ก็ถือว่าเป็นศัตรู ในความเป็นจริงแล้วการอยู่ร่วมฝูงกันของสัตว์สังคม เป็นการสร้างความร่วมมือภายใน และความขัดแย้งภายนอกไปในตัว
การรู้ว่ามีพวกเดียวกัน แปลว่ารู้ว่าที่ไม่ใช่พวกเดียวกับเราก็เป็นไปได้มากที่จะเป็นศัตรู
มนุษย์เองเป็นสัตว์สังคมเช่นเดียวกัน ต่างกันตรงที่สังคมมนุษย์มีความซับซ้อนมากกว่าสังคมของสัตว์หลายเท่า มนุษย์เองมีกลุ่มสังคมที่เล็ก ๆ ตั้งแต่กลุ่มครอบครัว กลุ่มชุมชน จนถึงสังคมขนาดใหญ่ระดับประเทศ ไม่เพียงเท่านั้นมนุษย์หนึ่งคนมีกลุ่มที่ไม่ใช่เพราะความใกล้ชิดแต่เป็นกลุ่มทางกิจกรรม เช่น กลุ่มทางกีฬา หรือกลุ่มทางความคิด เช่นกลุ่มการเมือง แต่การอยู่รวมเป็นกลุ่มนั้นตามที่ได้บอกแล้วว่าเป็นปกติที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม เช่น ชนชาติต่างกันก่อสงครามกัน เล่นกีฬากันก็เป็นคู่แข่งกัน ความคิดเห็นการเมืองต่างกันก็ทะเลาะกันเหมือนกับสถานการณ์บ้านเมืองของเราในตอนนี้
มีความขัดแย้งเกิดขึ้นได้ ก็ต้องมีทางแก้ไข ตามธรรมชาตินั้นมีการใช้ความความรุนแรงในการตัดสิน ใครอ่อนแอกว่า ก็ต้องยอมแพ้ ในบางครั้งก็เสียชีวิต เช่นเดียวกับคนที่มีสงคราม อย่างไรก็ตามมนุษย์เองก็มีเครื่องมือหลายอย่างที่ใช้ป้องกันความขัดแย้ง การติดต่อเจรจากันเองระหว่างคนสองกลุ่ม การตั้งคนกลางมาในการเจรจาระหว่างคนสองกลุ่ม การสร้างสถานการณ์ที่เป็นอุปสรรคโดยผู้มีอำนาจเหนือกว่ากลุ่มคนสองกลุ่มแล้วให้คนทั้งหลายเหล่านั้นร่วมฝ่าฟันให้พ้นผ่านอุปสรรคนั้นไปด้วยกัน ฯลฯ แต่วิธีการเหล่านี้นั้นไม่อาจนำมาใช้ได้เลยหากคู่กรณีทั้งสองฝ่ายไม่สมัครใจ ดังนั้นในเรื่องที่ใหญ่ ๆ และสำคัญ เช่น การเมือง มนุษย์จึงสร้างสิ่งยุติความขัดแย้งโดยการสร้างข้อตกลงที่บอกไปเลยว่าใครผิดหรือถูก หรือที่เรียกอย่างคุ้นหูว่า กฎหมาย
กฎหมาย คือ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นอันถือเป็นข้อตกลงร่วมกันของคนในสังคม เพื่อการอยู่อาศัยร่วมกันอย่างสงบสุข สังคมใดที่กฎหมายที่มี “ความศักดิ์สิทธิ์” กล่าวคือ กฎหมายถูกบัญญัติตามหลักความยุติธรรม และบังคับใช้ได้จริง ผู้คนในสังคมนั้นก็จะมีความสงบสุข แม้จะเกิดเหตุกระทบกระทั้งกัน แต่ก็สามารถยุติได้ด้วยธรรมตามหลักกฎหมาย โดยต่างฝ่ายต่างยอมรับที่จะทำตามกฎที่กำหนดไว้
ในทางกลับกัน หากสังคมใดกฎหมายขาด “ความศักดิ์สิทธิ์” กล่าวคือ กฎหมายไม่ถูกบัญญัติตามหลักความยุติธรรม หรือไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง พอคนไม่ยอมรับในกฎหมาย ผู้คนในสังคมนั้นก็ไม่อาจอยู่อย่างสงบสุขได้ ต่างล่วงละเมิดซึ่งสิทธิของกันและกันเอง โดยไม่มีสิ่งใดคอยตัดสินผิดถูก
จากความคิดเห็นของผู้เขียน สังคมไทยในตอนนี้มีความน่าเป็นห่วงทั้งเรื่องความขัดแย้ง ที่มีผลต่อกฎหมาย
สถานการณ์ตอนนี้ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมือง เป็นกลุ่มคนจำนวนมาก คนที่มีจำนวนมากยิ่งเกิดความขัดแย้งที่รุนแรง มีการทำลายทรัพย์สินของคนอื่น มีการสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น คำถามที่ตามมาคือ ทำไมเหตุการณ์นี้ไม่จบตรงที่กฎหมายลงโทษคนบุคคลกลุ่มที่ทำผิดกฎหมาย
ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วว่าพอมีการรวมกลุ่ม ก็จะเกิดการมองกลุ่มอื่นว่าเป็นศัตรู และศัตรูในตอนนี้ไม่เพียงแต่ฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น กลับกลายเป็นว่าสถานการณ์ในตอนนี้ กฎหมาย ก็คือศัตรูเช่นเดียวกัน เพราะกฎหมายบางส่วนบัญญัติไว้ว่าสิ่งที่กลุ่มของตนทำเป็นความผิด ก็เลยเริ่มที่จะไม่สนใจว่าตนทำผิดกฎหมายหรือไม่ หรือไม่ก็ยึดถือแต่กฎหมายเฉพาะข้อที่ให้ประโยชน์กับตน
กฎหมายไม่ใช่เวทย์มนต์ที่จะจัดการกับคนที่ทำผิดกฎ กฎหมายต้องใช้คนเช่นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือศาลในการจัดการ แต่พอคนที่ทำผิดมีจำนวนมาก ก็เป็นการยากที่เจ้าหน้าที่เหล่านี้จะสามารถนำกฎหมายมาบังคับใช้ได้อย่างทั่วถึง และเมื่อกลุ่มคนฝ่ายหนึ่งกระทำผิดกฎหมายแต่ไม่ได้รับการลงโทษ ผลที่ตามมาคือ กลุ่มคนอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามก็ย่อมมองเป็นการไม่เท่าเทียมกันที่กลุ่มเขาสามารถทำผิดได้ แต่กลุ่มเราทำผิดไม่ได้ สุดท้ายต่างฝ่ายก็จะอ้างเอาเหตุของอีกฝ่ายเพื่อให้ฝ่ายตนกระทำผิดกฎหมายได้ต่อไปเรื่อยๆ เหตุดั่งกล่าวมานี้เองจะส่งผลอย่างร้ายแรงทำให้กฎหมายขาดซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ในที่สุด
ในสถานการณ์การเมืองไทยตอนนี้สิ่งที่ควรจะเร่งกระทำคือการทำให้กฎหมายยังคง “ความศักดิ์สิทธิ์” ใครทำผิดกฎหมายข้อใดก็ควรได้รับการลงโทษตามนั้น ไม่ใช่เพียงเพื่อผลของความยุติธรรม แต่เป็นผลที่สืบเนื่องกับความขัดแย้งครั้งต่อไปในอนาคต หากมีความขัดแย้งทางการเมืองในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก การกระทำที่ผิดกฎหมายเช่นการสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่นในสังคมจะได้ไม่เกิดขึ้นอีก
สิ่งที่สำคัญในตอนนี้ไม่ใช่เพียงแค่ว่า ใครจะเป็นฝ่ายถูกในความขัดแย้ง หากเป็นไม่ว่าจะฝ่ายใดทำผิดกฎหมาย ก็ต้องรับผิดกับสิ่งที่ทำ เพราการคง “ความศักดิ์สิทธิ์” ของกฎหมายไว้ เท่ากับการรักษาความสงบสุขของสังคมในทุก ๆ ครั้งที่มีความขัดแย้ง แม้แต่ในเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นเรื่องใหญ่ หากทุกคนแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองไปภายใต้สิทธิที่กฎหมายมอบให้ หรือเมื่อกระทำผิดไปก็ยอมรับผิดไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ความขัดแย้งนั้นๆ ก็จะอยู่ในขอบเขตที่ควบคุมได้ ประชาชนทุกคนก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข.
ขออภัยที่พาดหัวข่าว..ไม่ตรงกับเนื้อหา...ด้วยความเคารพ..ไม่มีเจตนา..เพียงเพื่อ..ต้องการให้..บล็อกครูบ้านนอกของพวกเรา..คึกคัก..จริงๆ..ขอบคุณครับ....