สถานี ก.ค.ศ.
“ครูผู้ช่วย ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ใบอนุญาต”
การบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามมาตรา ๔๕ วรรคหนึ่ง กำหนดให้บรรจุและแต่งตั้งจาก “ผู้สอบแข่งขันได้” และมาตรา ๔๖ กำหนดว่า ผู้สมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ต้องมีคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา ๓๐ และมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งตามมาตรฐานตำแหน่งนั้น ดังนั้น การเป็นผู้สมัครสอบแข่งขัน
จึงเป็นขั้นตอนแรกก่อนที่จะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา นอกจากนี้ พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๔ กำหนดคำนิยามว่า ...
“ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา” หมายความว่า ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่น ซึ่งได้รับอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพตามพระราชบัญญัตินี้
“ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพซึ่งออกให้ผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามพระราชบัญญัตินี้ ประกอบกับมาตรา ๔๖ กำหนดว่า ห้ามมิให้ผู้ใดแสดงด้วยวิธีใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนมีสิทธิหรือพร้อมที่จะประกอบวิชาชีพ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากคุรุสภา และห้ามมิให้สถานศึกษารับผู้ไม่ได้รับใบอนุญาต เข้าประกอบวิชาชีพควบคุมในสถานศึกษาเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคุรุสภา
“ครูผู้ช่วย” หมายถึง ผู้ช่วยครูในการทำหน้าที่สอน หากแต่สถานภาพและหน้าที่ความรับผิดชอบแตกต่างกับครู เพราะครูผู้ช่วยจะต้องเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มเป็นเวลาสองปีก่อน (หรือเรียกให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า “การทดลองปฏิบัติราชการนั่นเอง”) ถ้าผลการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มผ่านเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนด จึงจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครู
การกำหนดมาตรฐานตำแหน่งครูผู้ช่วย มีพัฒนาการมาตามลำดับ ครั้งแรก กำหนดคุณสมบัติเฉพาะสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วย คือ ข้อ ๑) มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา หรือทางอื่นที่ ก.ค.ศ. กำหนดเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนี้ ข้อ ๒) มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ต่อมามีการปรับปรุงครั้งที่ ๑ เพิ่มเติมในข้อ ๒) มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือใบอนุญาตปฏิบัติการสอน ปรับปรุงครั้งที่ ๒ เพิ่มเติม ในข้อ ๒) มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือหลักฐานที่ใช้แสดงในการประกอบวิชาชีพครูตามที่คุรุสภาออกให้เพื่อปฏิบัติหน้าที่สอน และล่าสุดได้มีการปรับปรุงครั้งที่ ๓ โดยเพิ่มเติมในข้อ ๒) มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือหลักฐานที่ใช้แสดงในการประกอบวิชาชีพครูตามที่คุรุสภาออกให้เพื่อปฏิบัติหน้าที่สอน ก่อนการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
จากคำนิยาม “ใบอนุญาต” จะเห็นได้ว่ามิได้กำหนดให้ออกให้กับผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งครูผู้ช่วย และมาตรา ๕๖ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม กล่าวว่า ครูผู้ช่วย ต้องเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มเป็นเวลาสองปีก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครู ตามหลักเกณฑ์และวิธีการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มโดยมีหลักสูตรเป็น ๒ หมวด คือ หมวดที่ ๑ การปฏิบัติตน :- ๑) วินัย คุณธรรม จริยธรรม สำหรับข้าราชการครู ๒) มาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณวิชาชีพครู ๓) เจตคติที่ดีต่อวิชาชีพครู ๔) การพัฒนาตนเอง ๕) การพัฒนาบุคลิกภาพ และ ๖) การดำรงชีวิตที่เหมาะสม หมวดที่ ๒ การปฏิบัติงาน :- ๑) การจัดการเรียนรู้ ๒) การพัฒนาผู้เรียน ๓) การพัฒนาวิชาการ ๔) การพัฒนาสถานศึกษา และ ๕) ความสัมพันธ์กับชุมชน
การที่ ก.ค.ศ. มีการปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งครูผู้ช่วย เป็นการดำเนินการตามกฎหมายมาโดยลำดับนั้นก็เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ราชการในอันที่จะได้ครูที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครูและได้ครูผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเชิงลึกในเนื้อหาวิชาการ และยังเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้สมัครสอบแข่งขันทั่วไปมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้สมัครสอบแข่งขัน หากเป็นผู้สอบแข่งขันได้และถึงลำดับที่บรรจุ จะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือ หลักฐานที่ใช้แสดงในการประกอบวิชาชีพครูตามที่คุรุสภาออกให้เพื่อปฏิบัติหน้าที่สอนก่อนการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามที่มาตรฐานตำแหน่งครูผู้ช่วย กำหนดไว้
พินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์
เลขาธิการ ก.ค.ศ.
เผยแพร่ทางคอลัมน์ “สถานี ก.ค.ศ.”
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 3 เมษายน 2560
ขอบคุณที่มาจาก สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา วันจันทร์ ที่ 3 เมษายน 2560