คาดปี 2576 เด็ก 1 คนต้องรับภาระผู้สูงวัยขึ้นราว 2 เท่าตัว สสค.ขานรับนโยบายรัฐ 4 หน่วยงานบูรณาการความร่วมมือ ‘พัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต’ ดัน “ศูนย์เด็กเล็ก4.0” ด้วยแนวทางไฮสโคป ลงทุนน้อยได้คาดปี 2576 เด็ก 1 คนต้องรับภาระผู้สูงวัยขึ้นราว 2 เท่าตัวผลคืนกลับ 7-12 เท่า ช่วยไทยหลุด 2 กับดัก รายได้ปานกลางและภาระสังคมสูงอายุ
วันที่ 31 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมชินาม่อนเรสซิเดนซ์ ถ.วิภาวดี สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายสื่อสารด้านการปฏิรูป (Thai Reporter 4.0) จัดเสวนาวิชาการขับเคลื่อนประเด็นศูนย์เด็กเล็ก ‘ต้นทาง’ การลดช่องว่างสังคม ‘ผู้สูงวัย’ สู่การเตรียมความพร้อม ‘เด็กปฐมวัย’ โดยได้รับเกียรติจากนายทนงศักดิ์ ทวีทอง นายกอบจ.สุราษฎร์ธานี นายไกรศักดิ์ ทวีทอง ปลัดอบจ.สุรินทร์ นายทรงเกียรติ ล้านพลแสน นายกอบต.หนองตอกแป้น จ.กาฬสินธ์ุ ดร.วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า ภาคีสื่อมวลชนส่วนกลาง และท้องถิ่น
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้ช่วยผู้จัดการด้านวิจัยและนโยบาย สสค.กล่าวว่า หากวิเคราะห์ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เดือนมกราคม 2560 ที่ระบุว่าประเทศไทยมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 19,429 แห่ง มีครูผู้ดูเด็กและผู้ดูแลเด็ก จำนวน 52,207 คน ดูแลเด็กอายุ 2-5 ปีจำนวน 899,423 คนลดลงจากปี 2556-2560 ร้อยละ 2.48 ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนว่าประเทศไทยมีอัตราการเกิดต่ำลงต่อเนื่อง สอดคล้องกับข้อมูลจากสภาพัฒน์ที่คาดการณ์ว่าในปี 2576 ประชากรสูงวัยจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 29 ส่วนประชากรเด็กจะเหลือเพียงร้อยละ 14 เท่านั้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 2.07 เท่า หมายความว่าในอนาคตเด็กไทย ต้องแบกรับภาระจากการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสูงวัยมากขึ้น โดยเด็ก 1 คนจะต้องรับภาระผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นราว 2 เท่าตัวในอีก 16 ปีข้างหน้า
ดร.ไกรยส กล่าวว่า การลงทุนด้านการศึกษาระดับปฐมวัยของประเทศไทยในช่วง 10-20 ปีต่อจากนี้จึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นหากต้องการหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และกับดักจากการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสูงวัย (ร่าง) แผนประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ก็ระบุถึงเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน รวมถึง (ร่าง) รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยเพื่อรองรับภาระที่เพิ่มขึ้นในยุคสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ดังนั้น เราจะปล่อยให้ประเทศไทยตกอยู่ในความเสี่ยงในการพัฒนาประเทศ ด้วยการปล่อยผ่านเรื่องคุณภาพเด็กปฐมวัยไม่ได้อีกแล้ว
“การพัฒนาเด็กปฐมวัยคือการพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพในอนาคตแม้จะอยู่ในวัยผู้สูงอายุก็สามารถเป็นผู้สร้างงานสร้างรายได้ให้ประเทศไทย จนมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้สามารถเอาชนะ 2 กับดักนี้ได้ โดยหัวใจสำคัญของการลงทุนในเด็กปฐมวัยคือ การสร้างความเท่าเทียม ให้กลุ่มเด็กชายขอบเมืองและในพื้นที่ชนบทสามารถเข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพ อาจเริ่มจากศูนย์เด็กเล็กสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งตอนนี้มีมากกว่า 19,000 แห่งทั่วประเทศ และล่าสุดนายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง 4 กระทรวง บูรณาการความร่วมมือการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต จึงไม่มีช่วงเวลาใดในประวัติศาสตร์การศึกษาไทยที่สำคัญเท่ากับช่วงเวลานี้ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยอีกแล้ว”ดร.ไกรยศ กล่าว
ผศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.หอการค้า ผู้จัดการโครงการลดความเหลื่อมล้ำดัวยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ (RIECE Thailand) ร่วมกับสสค.กล่าวว่า โครงการ RIECE Thailand มีศูนย์เด็กเล็กที่เข้าร่วมทั้งหมด 50 ศูนย์ในจังหวัดมหาสารและกาฬสินธุ์ โดยใช้ High Scope เป็นแนวทางที่จะพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างได้ผล ไม่ได้เน้นให้เด็กเก่งเพื่อให้อ่านออกเขียนได้แต่เน้นการสร้างความพร้อมและการกระตุ้นการเรียนรู้อย่างเป็นขั้นตอน ในการวางแผน ลงมือทำ และการแชร์ข้อมูลกันที่เรียกว่า “Plan Do Review”
“จากการทดลองใน 50 ศูนย์เด็กเล็กที่พัฒนานำร่องเป็นศูนย์เด็กเล็ก4.0 เราพบว่า High Scope เป็นวิธีการที่คุ้มค่า ตามแนวทางของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ศ.เจมส์ เจ.แฮคเมน ที่ยืนยันว่า การลงทุนในเด็กปฐมวัย จะได้กำไรคืนมา 7-12 เท่า โดย ศูนย์เด็กเล็กอื่นๆสามารถนำไปใช้ได้ทันที เพราะต้นทุนไม่สูง ไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มเติม แต่ต้องมีบุคลากรที่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง แม้เป็นอปต.ขนาดเล็ก มีงบประมาณน้อย ก็สามารถพัฒนาศักยภาพในท้องถิ่นได้อย่างจริงจัง”
--
ขอบคุณข่าวจาก ทีมสื่อสารสาธารณะ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)
newsqlf@gmail.com