สกศ.มีมติปรับแก้กฎ ศธ.เรื่องการประเมินคุณภาพการศึกษา ให้ยึดกรอบของ ศธ.เป็นหลัก ชี้มาตรฐานที่กำหนดออกมาคำนึงถึงชุมชน ความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียน คาดออกเป็นประกาศในสัปดาห์หน้า ก่อนเสนอให้ ครม.ประกาศใช้ภายใน 2 เดือน
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมสภาการศึกษา (สกศ.) ครั้งที่ 1/2560 ว่า ในที่ประชุมได้มีการนำเรื่องการแก้กฎ ศธ.ว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินคุณภาพการศึกษา พ.ศ.2553 ที่จะต้องปรับให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งสาระสำคัญคือ การปรับลดการใช้เอกสาร กำหนดมาตรฐาน และวิธีการประเมินให้ชัดเจน และกำหนดผู้รับผิดชอบในการประกันคุณภาพ โดยที่ประชุมได้ให้ความเห็นในแง่มุมต่างๆ และมอบให้สำนักงานปลัด สธ.กลับไปปรับปรุงเนื้อหา จากนั้นจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ซึ่งเมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นก็จะเริ่มการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกรอบที่ 4 ต่อไป
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัด ศธ. กล่าวว่า ที่ผ่านมาการประเมินคุณภาพการศึกษามีประเด็นที่จะต้องปรับปรุงในหลายเรื่อง เช่น การลดภาระด้านการเตรียมเอกสารของสถานศึกษา, การใช้ประโยชน์จากผลการประเมิน, การประเมินระดับอุดมศึกษาก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เป็นต้น จึงทำให้ต้องมีการปรับกฎ ศธ.ดังกล่าว โดยสาระหลักของกฎ ศธ.นี้คือ 1.การประเมินภายใน จากเดิมประเมินโดยสถานศึกษาและต้นสังกัด ปรับใหม่ให้สถานศึกษาเป็นผู้ทำหน้าที่ประเมินภายในเท่านั้น และต้นสังกัดทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ สำหรับการประเมินภายนอกยังคงเป็นหน้าที่ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) 2.ตัวมาตรฐาน จากเดิมที่ใช้มาตรฐานของ สมศ. แบ่งตามระดับการศึกษาต่างๆ การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา อุดมศึกษา จะปรับให้เป็นกรอบมาตรฐานของ ศธ. ซึ่งสถานศึกษาจะยึดตามกรอบนี้ในการประเมิน ส่วน สมศ.จะทำหน้าที่ตรวจสอบว่าสถานศึกษาดำเนินการตามกรอบดังกล่าวหรือไม่ 3.วิธีการประเมิน จะเปลี่ยนเป็นเน้นการประเมินเชิงคุณภาพ รายงานเป็นรูปแบบข้อมูลเพื่อบรรยายสภาพที่เกิดขึ้น และผู้ที่ทำหน้าที่ในการประเมินจะเป็นเหมือนโค้ชที่แนะนำและให้คำปรึกษา ซึ่งจะเชื่อมโยงกับวัตถุประสงค์ของการประเมินคือ ประเมินเพื่อพัฒนา
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้ให้ข้อเสนอแนะว่า มาตรฐานการศึกษาที่ต้องยึดตามแผนการศึกษาชาติเป็นหลัก และหลักเกณฑ์และวิธีการทั้งหลายต้องไม่ซ้ำซ้อน ลดภาระให้สถานศึกษา ทั้งนี้ หัวใจของการประกันคุณภาพการศึกษาครั้งนี้คือ การประกันการจัดการศึกษาว่าจะทำให้นักเรียนมีคุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนดไว้ และที่ประชุมยังได้อภิปรายตัวมาตรฐานอย่างมากด้วย โดยย้ำว่าต้องมาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อย่างผู้ปกครอง นักเรียน และแม้ว่าการประเมินจะดูเรื่องการวัดผลนักเรียน แต่ก็ต้องดูถึงชุมชนด้วย คำนึงถึงความเหลื่อมล้ำของแต่ละโรงเรียน อีกทั้งยังได้พูดถึงเรื่องการวัดคุณธรรม จริยธรรม การพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึงมาตรฐานโรงเรียนนานาชาติด้วย สำหรับข้อมูลทั้งหมดจะมีการนำไปปรับแก้ไขกฎ ศธ.ดังกล่าว และก็จะมีการออกเป็นประกาศหรือคำสั่งตามมาด้วย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า จากนั้นจะเสนอให้ ครม.และคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตามลำดับ น่าจะประกาศใช้ได้ภายใน 2 เดือน.
ขอบพระคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยโพสต์ วันที่ 31 มีนาคม 2560