"สมคิด"หนุนแผนจัดการศึกษารองรับระเบียบเศรษฐกิจภาคตะวันออก แนะเสริมทักษะดิจิทัลครูช่วยทำให้การจัดการเรียนการสอนไม่น่าเบื่อ
วันนี้(30 มี.ค.) ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ได้รายงานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบการจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการการจัดทำแผนจัดการศึกษาแบบบูรณาการ เพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 - 25 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ จ.ชลบุรี โดยมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่ง ดร.สมคิดได้ชื่นชมและเน้นย้ำถึงความสำคัญของการศึกษาต่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่สนองตอบความต้องการในการพัฒนาประเทศ โดยอุดมศึกษา คือ มหาวิทยาลัยและสถานศึกษาอาชีวศึกษา ต้องมีส่วนสำคัญในการช่วยสอนให้เกษตรกรรู้จักการแปรรูป วิธีจัดการสมัยใหม่ การออกแบบสินค้าผลิตภัณฑ์ การตลาด การค้าขายผ่านอี - คอมเมิร์ซ ซึ่งต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้นิสิต นักศึกษาที่กำลังเรียนชั้นปีที่ 3 - 4 เกิดความตระหนักในการเชื่อมโยงกับการพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาการท่องเที่ยว ไม่ใช่แค่ออกไปรับจ้างหรือใช้แรงงาน ดังนั้นสถาบันอุดมศึกษาต้องผลิตผู้เรียนที่มีทักษะ ฝีมือ เชิงช่างเทคนิคชั้นสูง เพื่อรองรับวิชาชีพในอุตสาหกรรมเดิมให้เข้มข้นและสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ให้เกิดการต่อยอดหรือได้เปรียบมากขึ้น เช่น การแพทย์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ต่อยอดเป็นยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
เลขาธิการ สกศ. กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญในการพัฒนาการเรียนการสอน คือ การลดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้เรียนในเมืองและผู้เรียนในพื้นที่ห่างไกล รัฐบาลจึงเร่งขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ และสนับสนุนกลไกขับเคลื่อนระบบการศึกษาทางไกลให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ใช้เครื่องมือสังคมออนไลน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น เสริมทักษะด้านดิจิทัลแก่ครูสร้างให้มีครูชั้นดีและเก่งที่สามารถทำคลิปการสอน ส่งผ่านออนไลน์หรือบันทึกเป็นแผ่นดีวีดีเพื่อช่วยสอนหรือแนะนำครูรายอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้เด็กเรียนสนุก ไม่ง่วง และลดการออกไปติวนอกห้องเรียนได้ด้วย โดยรองนายกฯได้เน้นย้ำให้สถาบันการศึกษาช่วยคิดและสร้างคนรุ่นใหม่รองรับอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมทั้งผลิตพัฒนาช่างอุตสาหกรรม วิศวกร และนักวิจัยให้มากขึ้น โดยพัฒนาต่อยอดร่วมกับผลิตภัณฑ์สร้างเป็นอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ภาพยนตร์ เกม ดนตรี การท่องเที่ยว เป็นต้น โดยกระทรวงศึกษาธิการบูรณาการโครงการโรงเรียนประชาคมอาเซียนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โครงการการจัดการศึกษาเพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และโครงการการจัดการศึกษาเพื่อรองรับเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาต่อยอดการดำเนินงานโครงการดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม 2560 เวลา 17.25 น.