“ชัยพฤกษ์” เผย หลักสูตรครู 5 ปี ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ จำเป็นต้องปรับทิศทางใหม่รองรับไทยแลนด์ 4.0
วันนี้(27มี.ค.) ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้ปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่ง และแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ปี 2560 โดยเปิดทางให้ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูสมัครสอบได้ นั้น เรื่องนี้เป็นความจำเป็นของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่มีวุฒิทางการศึกษา แต่มีความจำเป็นต่อการเรียนการสอน รวมทั้งสาขาขาดแคลนสูง เช่น การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ จำเป็นต้องใช้ครูสาขาวิชากายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด จิตวิทยาคลินิก หรือ การจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษา เช่น ช่างอุตสาหกรรม ช่างกลโรงงาน ช่างเชื่อมโลหะ ช่างสำรวจ ประมง ซึ่งวิชาเหล่านี้ไม่มีการจัดสอนหลักสูตร 5 ปี จึงจำเป็นต้องเปิดรับคนซึ่งไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพมาสอน
" ที่ผ่านมาคุรุสภาได้ออกหนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพให้แก่ผู้ที่ขาดคุณสมบัติ ซึ่งหน่วยงานหรือสถานศึกษามีเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องการ โดยในปี 2558 ได้ออกให้ส่วนราชการต่างๆ จำนวน 21,297 ราย ปี 2559 จำนวน 20,845 ราย และในปี 2560 ณ เดือนกุมภาพันธ์ จำนวน 2,226 ราย ที่สำคัญขณะนี้ประเทศไทยกำลังมีแผนพัฒนาประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ การลงทุน และอุตสาหกรรมใหม่ ทั้งยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม โลจิสติกส์และการบิน การแพทย์ครบวงจร ดิจิทัล ซึ่ง ศธ.ต้องจัดการศึกษาเพื่อรองรับไทยแลนด์ 4.0 แต่ในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ไม่มีการเปิดสอน จึงจำเป็นต้องเปิดทางให้เพื่อตอบโจทย์ของประเทศ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)และวิทยาลัยชุมชนด้วย" ปลัดศธ.กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 27 มีนาคม 2560 เวลา 09.11 น.