เครือข่ายกลุ่มผู้อำนวยการผู้นำ ร่วมกับ บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ผู้จัดมหกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาครู Educa จัดตั้งเวที "การประชุมกลุ่มผู้อำนวยการผู้นำ" หรือ "Thailand Principal Forum"ขึ้น เพื่อเป็นเวทีคู่ขนาน ให้ผู้อำนวยการและครูใหญ่จากโรงเรียนต่างๆ หลายสังกัด ทั่วประเทศ ร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อพัฒนาการศึกษาไทย โดยได้เชิญวิทยากรจากต่างประเทศมาร่วมให้ความรู้ภายในการประชุมด้วย
ดร.เอสุเกะ ไซโต อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโมนาช (Monash University)ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า จากการได้เข้าไปสัมผัสกับครูและนักเรียนในแถบอาเซียน พบว่า แต่ละประเทศมีปัญหาคล้ายกันหลายเรื่องที่ยังคงถูกมองข้าม สำหรับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับครู เช่น ครูอาเซียนมีภาระงานทั้งที่โรงเรียนและที่บ้านมากเกินไป ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาในการพัฒนาความรู้ของตัวเอง
"ในต่างประเทศมีความพยายามให้ครูได้พัฒนาตัวเองประมาณ 100 ชั่วโมงต่อปี ข้อแนะนำสำหรับประเทศที่ครูมีชั่วโมงในการพัฒนาตัวเองน้อยกว่านั้นคือ กระทรวงศึกษาธิการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงครูใหญ่ของแต่ละโรงเรียน ต้องกลับมาทบทวนเรื่องการปรับโครงสร้าง นิยามว่าภาระงานอะไรของครูที่จำเป็นหรือไม่จำเป็น เพื่อจะได้ลดภาระงาน เช่น การประชุมที่ซ้ำซ้อน การทำหนังสือเวียน การเขียนรายงานที่ไม่จำเป็น รวมถึงอาจลดภาระชั่วโมงการสอนของครูลง และให้ครูมีโอกาสได้พัฒนาตัวเองในแต่ละปีมากขึ้น เพราะเรื่ององค์ความรู้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา" ดร.ไซโต กล่าว
อีกปัญหาหนึ่งที่มักพบในห้องเรียนแถบอาเซียน คือครูยังขาดความรู้ความเข้าใจว่า ควรสอนอย่างไร และควรดูแลเด็กแต่ละคนอย่างไร เช่น การทำงานกลุ่มนั้น อาจไม่ได้ทำให้เด็กทุกคนได้เรียนรู้ เพราะมักจะมีเด็กบางคนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ไม่ได้มีส่วนร่วมในการทำงานกลุ่ม ตามไม่ทันเพื่อน ครูเองก็มักสนใจเพียงว่างานกลุ่มเดินหน้าไปหรือไม่ ไม่ได้พยายามช่วยเหลือคนที่ต้องการความช่วยเหลือ
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการหรือครูใหญ่ของโรงเรียน ถือเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาต่างๆ ในระบบการศึกษาและสร้างบรรยากาศที่ดีในโรงเรียน ส่วนกลางควรกระจายอำนาจสู่ระดับโรงเรียนมากขึ้น เพื่อให้แต่ละโรงเรียนสามารถแก้ไขปัญหาที่พบได้อย่างตรงจุด รวมถึงช่วยสางปัญหาของครูให้มีชั่วโมงการพัฒนาตัวเองหรือเข้าไปสังเกตการสอนของครูคนอื่นมากขึ้น
ด้าน รศ.ลัดดา ภู่เกียรติ ประธานกลุ่มผู้อำนวยการผู้นำ เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดให้ครูมีชั่วโมงในการพัฒนาตัวเองประมาณ 20 ชั่วโมงต่อปี แต่เชื่อว่าหลายแห่งก็ยังติดขัดปัญหาในการให้ครูมีชั่วโมงการพัฒนาตัวเอง ทางแก้ปัญหาคือ แต่ละโรงเรียนควรให้ครูได้เข้าร่วมการฝึกอบรมหลักสูตรที่มีการจัดไว้แล้วและได้รับการรับรองโดยกระทรวงศึกษาธิการสำหรับการจัดการประชุมกลุ่มผู้อำนวยการผู้นำ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นเวทีคู่ขนานเพื่อเปลี่ยนนักเรียน เปลี่ยนครู และเปลี่ยนผู้บริหาร ผ่านการเรียนรู้จากวิทยากรภายนอกและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างโรงเรียน โดยปัจจุบันพยายามมุ่งเน้นในการพัฒนาโรงเรียน ภายใต้ปรัชญา วิสัยทัศน์ และระบบกิจกรรม โรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ (School as Learning Community)หรือ SLC ปัจจุบันมีโรงเรียนที่เป็นสมาชิกกลุ่มมากกว่า 100 โรงเรียน และยังมีแนวคิดในการเพิ่มสมาชิกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ รศ.ดร.สิริพันธุ์ สุวรรณมรรคา หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มผู้อำนวยการผู้นำ กล่าวว่า ครูใหญ่มีบทบาทสำคัญที่ช่วยสนับสนุนครูให้เป็นกลไกสำคัญในการสร้างห้องเรียนคุณภาพ ส่วนตัวครูเองก็ต้องเป็นผู้นำในการสร้างนวัตกรรม และเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในห้องเรียน และพัฒนาเด็กไทยให้เติบโตเป็นเยาวชนที่มีคุณภาพ
"ครูต้องไม่ใช่คาร์บอนไดออกไซด์ แต่ครูต้องเป็นออกซิเจน เพื่อให้เด็กรู้สึกว่าอยู่ใกล้แล้วปลอดภัย ต้องสร้างความรู้สึกให้เด็กอยากเรียนรู้ กล้าที่จะตั้งคำถาม จึงจะสามารถทำให้การศึกษานั้นก้าวไปข้างหน้าได้" รศ.ดร.สิริพันธุ์ กล่าว
รศ.พิมพ์พันธุ์ เดชะคุปต์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มผู้อำนวยการผู้นำ กล่าวว่า หากต้องการให้โรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ ต้องสร้างบรรยากาศของทั้ง Cognitive Learning และ Collaborative Learning ดูแลทั้งเด็กเก่ง เด็กปานกลาง และเด็กอ่อนอย่างทั่วถึง เพื่อให้ทั้งครูและนักเรียนไม่มีใครถูกทิ้งไว้ ไม่กล้าเรียนรู้ ไม่กล้าพัฒนา
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันเสาร์ ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2560