สทศ.ประกาศผลสอบโอเน็ต ป.6 และ ม.3 เร็วกว่ากำหนด 1 วัน โดยระดับ ป.6 มีวิชาภาษาไทยวิชาเดียวเฉลี่ยเกินครึ่ง ขณะที่ ม.3 ไม่มีวิชาใดเฉลี่ยเกินครึ่ง ด้านปลัดศธ.ไม่แปลกใจ อยากให้น้ำหนักการประเมินระดับห้องเรียน
วันนี้ (25 มี.ค.) รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ สทศ.ได้ ดำเนินการจัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต ประจำปีการศึกษา 2559 นักเเรียนระดับชั้นประถมศึกษา(ป.)ปีที่ 6 และ ระดับชั้นมัธยมศึกษา(ม.)ปีที่ 3 เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นั้น ขณะนี้ สทศ.ได้ประกาศผลสอบโอเน็ตทั้งระดับ ป.6 และ ม.3 เรียบร้อยแล้ว ทางเว็บไซต์ สทศ.www.niets.or.th ทั้งนี้ สทศ.ได้วิเคราะห์ค่าสถิติพื้นฐานจำแนกตามรายสาระการเรียนรู้ในแต่ละรายวิชา ระดับ ป.6 ดังนี้ ภาษาไทย ผู้เข้าสอบ 724,347 คน เฉลี่ย 52.98 คะแนน สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ผู้เข้าสอบ 724,342คน เฉลี่ย 46.68 คะแนน ภาษาอังกฤษผู้เข้าสอบ 724,336 คน เฉลี่ย 34.59 คะแนน คณิตศาสตร์ ผู้เข้าสอบ 724,285 คน เฉลี่ย 40.47 คะแนน วิทยาศาสตร์ ผู้เข้าสอบ 724,439 คน เฉลี่ย 41.22 คะแนน ส่วน ระดับ ม.3 มีคะแนน ดังนี้ ภาษาไทย ผู้เข้าสอบ 637,491 คน เฉลี่ย 46.36 คะแนน สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ผู้เข้าสอบ 637,245 คน เฉลี่ย 49.00 คะแนน ภาษาอังกฤษ ผู้เข้าสอบ 637,406 คน เฉลี่ย 31.80 คะแนน คณิตศาสตร์ ผู้เข้าสอบ 637,256 คน เฉลี่ย 29.31 คะแนน วิทยาศาสตร์ ผู้เข้าสอบ 637,047 คน เฉลี่ย 34.99 คะแนน
"ภาพรวมผลสอบโอเน็ตปีการศึกษา 2559 ในระดับ ป.6 พบว่า วิขาภาษาไทย มีค่าคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าผลสอบในปีการศึกษา 2558 ส่วน 4 วิชาที่เหลือคะแนนเฉลี่ยใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ส่วน ม.3 พบว่าปีนี้คะแนนเฉลี่ยสูงกว่าผลสอบปีการศึกษา 2558 จำนวน 3 วิชา คือ ภาษาไทย สังคมศึกษาฯ และภาษาอังกฤษ ขณะที่ส่วนวิชาที่คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ มีคะแนนเฉลี่ยใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา"รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าว
ด้าน ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวว่า ไม่รู้สึกแปลกใจกับคะแนนโอเน็ตที่ออกมา เนื่องจากผลคะแนนการสอบโอเน็ตเมื่อเปรียบกับการทดสอบในปีที่ผ่านๆมาจะกระเพื่อมอยู่ในช่วงแคบๆ ทั้งระดับ ป.6 ม.3และ ม.6 ซึ่งก็เป็นข้อมูลที่ทั้งฝ่ายทดสอบ และฝ่ายผู้สอนต้องนำมาวิเคราะห์ ว่าข้อสอบเป็นอย่างไร เด็กทำข้อไหนได้มาก หรือทำได้น้อยเพราะอะไร จำเป็นต้องจัดสอบโอเน็ตทุกปีหรือไม่ ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องประเมินทุกปี ทั้งนี้ โดยส่วนตัวตนเห็นว่าข้อสอบโอเน็ตไม่ได้วัดทุกเรื่องที่เด็กรู้ ผลการประเมินไม่ได้สะท้อนความรู้ความสามารถที่แท้จริงทั้งหมดของเด็ก เพราะเป็นข้อสอบแบบปรนัยที่ทดสอบเพียงบางเรื่อง การประเมินความรู้ความสามารถของเด็กนั้น เราควรให้ความสำคัญกับการประเมินในระดับห้องเรียน และแก้ไขปัญหาให้เด็กเป็นรายคน ตลอดจนครูต้องให้ความสำคัญกับการสอนในทุกคาบเรียน ทุกชั้นปี ไม่ควรมาเร่งสอนเฉพาะในช่วงที่มีการทดสอบโอเน็ตเท่านั้น ซึ่ง ศธ.คงต้องมาทบทวนเรื่องนี้อย่างจริงจังทั้งการสอนในห้องเรียน และการทดสอบในระดับชาติ เพื่อให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 25 มีนาคม 2560 เวลา 15.30 น.
เว็บไซต์ สทศ.
www.niets.or.th/