เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2560 เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ ได้เผยแพร่ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 150/2560 เรื่อง รมว.ศธ.ให้สัมภาษณ์กรณีการเปิดรับสมัครสอบครูผู้ช่วย มีเนื้อหาและรายละเอียด ดังนี้
23 มีนาคม 2560 - นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การรับสมัครครูผู้ช่วย สำหรับผู้ที่ยังไม่มีใบอนุญาตปฏิบัติการสอนที่คุรุสภาออกให้ สามารถสมัครสอบแข่งขันได้ก่อน แต่เมื่อผ่านการคัดเลือกแล้ว จะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูหรือหลักฐานที่ใช้แสดงในการประกอบวิชาชีพครูตามที่คุรุสภาออกให้ เพื่อปฏิบัติหน้าที่สอนตั้งแต่วันที่บรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครู
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนกรณีดังกล่าว รวมทั้งกรณีที่ผู้เรียนครูหลักสูตร 5 ปี อาจจะมีการเคลื่อนไหว โดยกล่าวว่า "เรื่องนี้มีการถกเถียงมานานกว่า 10 ปีแล้วว่าจะมีการเปิดโอกาสให้คนข้างนอกเข้ามาเป็นครูได้หรือไม่ และต้องเข้าใจข้อเท็จจริงด้วยว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะมีครูที่เกษียณอายุราชการอีกประมาณ 270,000 คน อีกทั้งภาพใหญ่ในการปฏิรูปการศึกษาของประเทศคือ การได้มาซึ่งครูประจำการ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญคือ การสรรหาบรรจุข้าราชการครู ซึ่งเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการสรรหาคนที่จะมาทดแทนครูที่จะเกษียณ 270,000 คน เราไม่ได้ปิดกั้นคนเก่า แต่ขณะนี้มีปัญหาว่าหลายสาขา สรรหาเท่าไรก็ไม่เคยได้ และเราต้องการคนเก่งไม่ว่าจะเป็นกระบวนการครูคืนถิ่นซึ่งก็นำมาจากสาขาอื่นด้วย ครั้งนี้เราดีที่เปิดให้สอบ เพราะถ้าจะใช้วิธีเอาครูคืนถิ่นหมดเลย โดยขอมติคณะรัฐมนตรีแล้วเลือกเองหมดเลย โอกาสจะยิ่งไม่มี เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องการสรรหา ไม่เกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานหรือการทำลายศักดิ์ศรีใคร และเป็นเรื่องของเหตุผล จะมาเถียงกันเรื่องของจิตวิญญาณความเป็นครูก็จะมีการเถียงกันไปมาว่าวัดได้ไหม และเหนือสิ่งอื่นใดต้องมีใครสักคนตัดสินใจว่าประเทศจะเดินอย่างไร ตอนนี้ตัดสินใจแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าจะเคลื่อนไหวก็ขอให้เป็นเรื่องของวิชาการ คุยกันดี ๆ แต่อย่าทำให้เสียศักดิ์ศรี หรือแบล็คเมล์ หรือปลุกเร้าอารมณ์คน"
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีผู้สอบผ่านการคัดเลือกเข้ามาเป็นครูผู้ช่วย สำหรับผู้ที่ไม่ได้จบหลักสูตร 5 ปี แต่จะต้องมาสอบวิชาความเป็นครูด้วย โดยกล่าวว่า "คนที่เสียเปรียบจริง ๆ ไม่ใช่คนที่เรียนจบครู แต่เป็นคนกลุ่มที่ไม่ได้เรียนครู ซึ่งอุตส่าห์ตั้งใจมา พอเข้ามาแล้วต้องไปเรียนประกาศนียบัตรวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต) หรือปริญญาโทเรื่องความเป็นครู ซึ่งปกติมีอยู่แล้ว ลองคิดดูว่าเสียสละเพียงใดในการที่จะมาเป็นครู แล้วจะไปกีดกันเขาทำไม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเข้ามาในสาขาขาดแคลนที่เราสรรหาไม่ได้สักที ในสาขาที่หาได้ก็ให้มาแข่งกัน ถ้าคุณเรียนมาตั้ง 5 ปี คุณก็ต้องเก่งพอที่จะแข่งกับเค้าได้ เรียนมา 5 ปีก็ต้องแข่งได้ทั้งความเป็นครูและวิชาการด้วย เค้าเริ่มจากเสียเปรียบแล้วไปกีดกัน เรื่องการผลิตคนเป็นอีกส่วนหนึ่ง แต่ขณะนี้ต้องดูแลเรื่องการรับสรรหาครูเข้ามา
เพราะฉะนั้น นโยบายกระทรวงศึกษาธิการจะเดินแบบนี้ เหมือนเป็นเจ้าของบริษัทต้องการใครสักคนเข้ามาทำงานต้องเป็นเรื่องของใคร เรื่องของมหาวิทยาลัย หรือเรื่องของบริษัท ดังนั้นให้คุยกันดี ๆ"
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
23/3/2560
ขอบคุณที่มาจาก เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ 23 มีนาคม 2560