"หมอธี" แจงกรณีใช้อำนาจ ม.44 ลดอำนาจการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ของ ก.ค.ศ.ทำเพื่อรองรับการปฏิรูปการศึกษา และเพิ่มความคล่องตัวแก้ กม. เพื่อประโยชน์ของครู ไม่ยอมหากมีกรณีเคลื่อนไหว ลั่นยินดีพบผู้แทนครู ด้าน "ปลัด ศธ." เผย คำสั่ง คสช.ฉบับ 16 ปรับ 2 ส่วน ลดจำนวนบอร์ด ก.ค.ศ.และ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญ พร้อมให้ ก.ค.ศ.เป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขันครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นหน่วยงานคล้ายกับ ก.พ.
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2560 เรื่อง การบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น ตนขอยืนยันว่าการปรับองค์ประกอบโดยตัดผู้แทนครูจากคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ไม่ได้เป็นความขัดแย้งหรือมองว่าเป็นศัตรู แต่เป็นเพียงการทำเพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นสามารถที่จะปรับแก้กฎระเบียบต่างๆ ให้มีความรวดเร็ว ทั้งนี้ เพื่อผลประโยชน์ของครูอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมา คสช.มีคำสั่งยกเลิกคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาแล้วก็ต้องปรับคณะกรรมการ ก.ค.ศ.ให้สอดคล้องกัน โดยผู้แทนครูก็ไปทำหน้าที่ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญกลั่นกรองงานเสนอ ซึ่งตนเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาเพราะที่ผ่านมาได้มีการทำความเข้าใจกันแล้ว ส่วนที่เกรงว่าจะมีการเคลื่อนไหวของผู้แทนครูนั้น เรื่องนี้ตนคงไม่ยอม ไม่ใช่ว่าตนก้าวร้าว แต่ประเทศต้องเดินหน้าด้วยเหตุผลและกฎหมาย ไม่เช่นนั้นคงทำงานกันไม่ได้ ซึ่งหลังมีคำสั่ง ม.44 ดังกล่าว ก็มีผู้แทนครูจะขอมาพบตน ซึ่งตนก็ยินดีให้พบ แต่ขอให้เป็นผู้แทนครูจริงๆ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่ใช่แนวคิดของตน แต่เป็นการเข้ามาดำเนินการต่อเนื่องจากคำสั่ง ม.44 เดิม
ด้าน นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวว่า คำสั่งดังกล่าวมีสาระสำคัญเพื่อการจัดระบบการศึกษาของชาติให้มีมาตรฐานทั้งในด้านหลักสูตรการเรียน การสอน และในด้านบุคลากรให้เหมาะสม เพื่อให้การปฏิรูประบบการศึกษาเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ผ่านประชามติ ที่รอการประกาศใช้ จำเป็นต้องปรับปรุงองค์กรกลางบริหารงาน บุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่นที่จะสนับสนุนการบริหารงานด้านบุคคลให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการปรับปรุงองค์กรกลางการบริหารงานบุคคลฯ มีการปรับ 2 ส่วน คือ คณะกรรมการ ก.ค.ศ. และ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญ โดยในส่วนของคณะกรรมการ ก.ค.ศ.ปรับให้เป็นคณะกรรมการเชิงนโยบายมากขึ้น โดยจะเหลือคณะกรรมการ 15 คน จาก 31 คน ผู้ทรงคุณวุฒิมี 3 คน ในด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ด้านการศึกษา และด้านกฎหมาย ส่วนผู้แทนครูและบุคลากรทางการศึกษา 12 คน และผู้แทนจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) รวมถึงกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จะไม่มีในคณะกรรมการชุดใหม่ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้แทนครูฯ จะไปอยู่ใน อ.ก.ค.ศ.วิสามัญที่จะมีในเบื้องต้น 3 ชุด จากเดิมที่มี 11 ชุด เพื่อทำการแทน ก.ค.ศ. ได้แก่ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเกี่ยวกับการอุทธรณ์และการร้องทุกข์ อ.ก.ค.ศ. วิสามัญเกี่ยวกับวินัยและการออกจากราชการ อ.ก.ค.ศ. วิสามัญเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยองค์ประกอบของ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญแต่ละชุดจะลดจำนวนเหลือไม่เกิน 15 คน จากเดิมที่เคยมีคณะละ 14-23 คน ส่วน อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเฉพาะกิจที่มีอยู่ประมาณ 200 คณะ ยังคงให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคำสั่งแต่งตั้งใหม่
"คำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่าวยังได้มีการปรับแก้คำว่า ขั้นเงินเดือน ในระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้เป็นคำว่า เงินเดือน เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ซึ่งเป็นระบบเดียวกับข้าราชการส่วนอื่นๆ นอกจากนี้ คำสั่งหัวหน้า คสช.ยังให้ ก.ค.ศ.เป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นการปลดล็อกการปรับระบบการสอบแข่งขัน ที่อนาคตจะให้ส่วนกลางเป็นผู้จัดสอบภาค ก. หรือความรู้ทั่วไปเช่นเดียวกับการสอบ ก.พ. แต่ ก.ค.ศ.ยังสามารถมอบอำนาจให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ดำเนินการแทนได้ ทั้งนี้ คณะกรรมการ ก.ค.ศ.ชุดใหม่ต้องไปกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ได้มาซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนครูฯ ใน อ.ก.ค.ศ.วิสามัญชุดต่างๆ" ปลัด ศธ.กล่าว.
ขอบคุณที่มาจาก ไทยโพสต์ วันที่ 23 มีนาคม 2560