อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ฯ มก.จี้คุรุสภา-รัฐบาล ทบทวนระบบการผลิตครูใหม่ ชี้ระบบที่ทำอยู่อาจได้ครูไม่มีคุณภาพอย่างแท้จริง เผยเปิดช่องทุกหลักสูตรสอบครูได้กระทบคนเรียนหลักสูตรครู 5 ปี
วันนี้( 22มี.ค.) ผศ.ดร.พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีมติเห็นชอบการปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งครูผู้ช่วย และแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีทั่วไป ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยเปิดให้ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู สมัครสอบได้ ว่า มติดังกล่าวส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตครูเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ที่จบหลักสูตรครู 5 ปี ซึ่งจะเรียนมากกว่าหลักสูตรระดับปริญญาตรีทั่วไป ที่ใช้เวลาเรียนแค่ 4 ปี และยังเป็นการเปิดให้ผู้จบสาขาอื่นมีทางเลือกในการประกอบอาชีพได้มากกว่าผู้ที่จบตรงสาขา
ผศ.ดร.พัทธนันนท์ กล่าวต่อไปว่า กระบวนการคัดเลือกครูมีการเปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมาตลอด ซึ่งทำให้ระบบการผลิตครูอาจจะไม่ได้ครูที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง ดังนั้น สิ่งที่คุรุสภาควรดำเนินการคือ
1.ต้องมาดูว่าจะมีแนวทางอย่างไรให้สถาบันผลิตครูทั่วประเทศสามารถผลิตบัณฑิตวิชาชีพได้เป็นครู ที่มีความเป็นเลิศทั้งด้านเนื้อหา และทักษะการจัดกระบวนการเรียนรู้
2.มีกลไกอะไรบ้างที่จะทำให้คนเก่งมาเรียนครูมากขึ้น
3. หลักสูตรวิชาชีพครูควรเหลือกี่ปีถึงจะมีความเหมาะสม ซึ่งต้องมีการศึกษา เปรียบเทียบอย่างจริงจัง เพื่อหาแนวทางที่ชัดเจนในกระบวนการผลิตครูที่มีประสิทธิภาพ และ
4.การวิจัยในชั้นเรียนยังมีความจำเป็นในการเรียนวิชาชีพครูจริงหรือไม่ หรือ ควรเป็นแค่ทักษะกระบวนการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ที่เป็นระบบเน้นการค้นหาปัญหา วิเคราะห์สาเหตุ ตั้งสมมติฐาน ทดลอง และสรุปผลการดำเนินงาน
อย่างไรก็ตามตนเห็นว่ารัฐควรจะมามองการแก้ปัญหาการผลิตครูในระยะยาว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 22 มีนาคม 2560 เวลา 14.49 น.