วิเวกเป็นสิ่งที่ควรรู้จักและพึงมี
คำว่า วิเวก นี้ ดูเหมือนจะเป็นที่รังเกียจของคนทั่วไป บางคนมองว่าเป็นคำคร่ำครึ เก่ามาก โบราณมาก คงเหมาะกับคนอยู่ป่าอยู่ดง เป็นฤาษี ชีไพร จึงควรเรียกว่า วิเวก
ถ้าเคยเข้าใจเช่นนี้ต้องมาทำความเข้าใจเสียใหม่นะคะว่า มันมีความลับที่เป็นประโยชน์มากซ่อนอยู่ แล้วคนก็ไม่ค่อยรู้จัก จึงไม่ต้องการวิเวก
ความหมายของวิเวก
ภาษาบาลี “ วิเวก” แปลว่า “เดี่ยว ไม่มีอะไรรบกวน” ถ้าภาษาไทย จะหมายความว่า วิเวกวังเวงไปเสียอย่างนั้น หรือไม่น่าพอใจ แล้วคนธรรมดาจะไม่ชอบความวิเวก เช่น ไม่อยากอยู่คนเดียว อย่างน้อยก็มีเด็กๆคนหลายคนเป็นเพื่อนอบอุ่น อะไรทำนองนี้
ไม่ชอบอยู่คนเดียว แต่นั่นไม่เป็นไร ความหมายของคำว่าวิเวกมันยังดีกว่านั้นมาก บางที
จะต้องจำเป็นต้องมีวิเวกด้วยซ้ำไป
วิเวก แปลว่าเดี่ยวไม่มีอะไรรบกวน ถามว่ามันสบายหรือไม่สบายล่ะคะ? ซึ่งจะแบ่ง
วิเวกออกเป็น 3 อย่าง
1. กายวิเวก วิเวกทางกาย กายไม่มีอะไรมารบกวน
2. จิตวิเวก วิเวกทางจิต จิตไม่มีอะไรมารบกวน
3. อุปธิวิเวก วิเวกทางอุปธิ ไม่มีอะไรที่เอามายึดมั่นถือมั่น
ทีนี้พอมาสนใจวิเวกได้ยังคะ?...เมื่อก่อนครูรัชนีเองไม่ได้คิดลึกซึ้ง ถึงแก่นขนาดนี้ ก็เฉยๆธรรมดาๆ ใครพูดมาก็ผ่านๆหูไปเฉยๆ แต่คราวนี้...ไม่เป็นเช่นนั้น ประสบการณ์เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้เราต้องสนใจ ประกอบกับเราชอบศึกษาพุทธศาสนาอยู่ประจำทำให้เกิดความอยากศึกษาอย่างมากมายเพราะการศึกษาธรรมะทำให้เราเกิดสุขอย่างประหลาดจริง หาใดเปรียบได้ อยากเชิญชวนทุกๆท่านมาร่วมกันเดินทางตามรอยพุทธศาสนาให้อย่างถ่องแท้มากๆ แล้วเราจะพบปิติสุขในชีวิตมากขึ้น
ขอขยายความของ วิเวก ไปทีละข้อนะคะ.....
1. กายวิเวก วิเวกทางกาย ไม่มีใครมารบกวน แต่ปุถุชนธรรมดาสามัญมักจะมีอะไรมารบกวนเสมอ มายุ่งด้วยเสมอ มาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ มายุ มาแหย่ มายั่ว มาเย้า
สังเกตดูว่าเวลาเราไม่ต้องการให้ใครมายุ่งเกี่ยวด้วย มายุ มาเย้า มาแหย่ เราจะอิสระ สบายๆกาย ไม่มีอะไรมารบกวน ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือบุคคล บางทีวิเวกทางกาย เขาจะแปลว่า สงบ สงัด นี่แหละเคยนึกชอบบ้างไหม? เคยมีกันบ้างไหม?
2. จิตวิเวก วิเวกทางจิต จิตไม่มีอะไรมารบกวน จิตมันนึกคิดปรุงแต่ง ขึ้นมีมากมายเช่น ความรัก ความโกรธ ความรักเป็นไฟเปียก ความโกรธเป็นไฟแห้ง ความโง่เป็นภัยมืด ...เมื่อโกรธมันก็เกลียด มารบกวนจิต เมื่อกลัวเมื่อตื่นเต้นมันก็มารบกวนใจ
ความอาลัยอาวรณ์ ความวิตกกังวล ความอิจฉาริษยานี่เป็นตัวรบกวนที่ร้ายกาจสุด
ความระแวง ความหึง ความหวง ความยกตนข่มท่าน เหล่านี้มันจะคอยรบกวนจิตเรา
3. อุปธิวิเวก เป็นเรื่องทางจิตใจที่ไม่ปล่อยวาง ยึดมั่นถือมั่น เกินไป แม้แต่
วัตถุ สังขารร่างกาย กามารมณ์ ที่หอบหิ้วไว้ว่าเป็นตัวเราของเรา ทำให้ดุจแบกภาระหินก้อนใหญ่ไว้ในตัวเอง มันหนักนะไม่เบา ไม่สบาย ไม่เป็นอิสระ ไม่เสรีภาพ อันนี้หนักยิ่ง
กว่า 2 ข้อที่กล่าวมา ฉะนั้น จากไม่รู้ไม่ชี้ ต่อไปนี้ต้องรู้เสียให้ถูกต้อง จะได้ไม่หนัก
ประโยชน์ของการมีวิเวก
1. ทำให้สุขภาพจิตดี ไม่มีอะไรมารบกวนกายมันก็มีร่างกายที่สบาย ไม่มีอะไรมารบกวนจิตจิตมันก็ดี ไม่มีอะไรมาเป็นของหนักแก่จิตใจยึดมั่นถือมั่น มันก็ทำให้สุขภาพจิตดี
2. ทำให้ได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน การปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุมรรค ผล
นิพพาน คือการทำให้ว่าง สงัด วิเวก ก็เรื่องเดียวกันนี่แหละ ศีลช่วยให้วิเวกไปตามระดับของศีล ปราศจากการรบกวนตามระดับของศีล สมาธิก็วิเวกไปตามระดับของสมาธิ
ถ้าเป็นอุปธิวิเวกในระดับพระอรหันต์ก็จะไม่มีอะไรมารบกวนเลย ...
3. วิเวกเป็นวัคซีนป้องกันโรคทางจิตใจ คุณคิดไหมว่า พูดอย่างนี้มันเหมือนกับชักจูงถอยหลังเข้าคลอง เป็นไดโนเสาร์เต่าล้านปี ซึ่งคนโบราณต้องการ เขาชอบกันนัก ต้องการกายวิเวก จิตวิเวก แต่คนสมัยนี้ควรจะเห็นว่า มันโบร่ำโบราณโง่เง่าเต่าล้านปี แต่แท้จริงมันเป็นเรื่องที่สดใสแจ่มใส เยือกเย็นงดงามยิ่งนัก ในสมัยปัจจุบันนี้วัตถุเจริญมากมาย ขณะเดียวกันมีเรื่องชิงดีชิงเด่น แข่งกันใหญ่ ดูมันยุ่งๆวุ่นวายไปหมด นี่เป็นเพราะไม่มีวัคซีนทางใจ คือวิเวกเข้าช่วยนั่นเอง
4. วิเวกทำให้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ในเมื่อศึกษารู้เรื่องจิต ปล่อยวางจิต สิ่งที่ครอบงำถูกปลดปล่อยจากจิตใจ ไม่ยินดียินร้าย ไม่เป็นบวกเป็นลบ แม้ว่าจะต้องตายก็ไม่เป็นทุกข์ คนจบปริญญายาวเป็นหาง หากไม่ปล่อยวาง มีวิเวกก็คงบ้าตายไม่ต้องสงสัย ขอให้รู้ว่าสูงสุดของพระศาสนาอยู่ที่ตรงนี้ ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องเอาชนะอะไรไปเสียทุกอย่างในโลกได้ เป็นกฎของธรรมชาติที่ตายตัวเป็นอย่างยิ่งว่า ถ้าไม่รู้จักวิเวก หรือเป็นอิสระจากสิ่งรบกวนต่างๆ มันก็จมอยู่ในทุกข์ตลอดไป
5. วิเวกเป็นไวพจน์ของนิพพาน เป็นคำแทนชื่อของพระนิพพานแปลว่า ดับเย็น วิเวกแปลว่าสงัดหรือเดี่ยวอย่างยิ่งถ้ามันมีอะไรรบกวนมันก็จะดับอยู่ในตัว สงบเย็นอยู่ในตัว ดังนั้นวิงวอนทุกคนว่า จงพยายามมีวิเวก ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องได้ใช้ต่อไปไม่ว่ายุคใดสมัยใดต่อไปในวันข้างหน้า...ขออนุโมทนาสาธุ..เทอญ.
ขอบพระคุณที่มาธรรมทาน จากหนังสือวิเวกเป็นที่พักผ่อนของวิญญาณอันดิ้นรน
(โดย...ท่านพุทธทาสภิกขุ หน้าที่ 22-40 พิมพ์เมื่อปีพ.ศ.2530)