นายเชิดศักดิ์ ศรีสง่า ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ขอนแก่น เขต 1 เปิดเผยกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายหนังสือยืมเรียนแทนโครงการหนังสือเรียนฟรี ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2560 ว่า นโยบายหนังสือยืมเรียนเป็นเรื่องที่ดี แต่คงต้องพิจารณาด้วยว่าจะใช้กับเด็กระดับใด เพราะ หากให้เด็กที่มีอายุน้อยเกินไปใช้หนังสือยืมเรียนก็อาจมีปัญหาเรื่องการดูแลรักษา ทำให้หนังสือเกิดการฉีกขาด สภาพทรุดโทรม และคงไม่มีใครอยากใช้ต่อในปีถัดมา ซึ่งส่วนตัวคิดว่า นโยบายหนังสือยืมเรียนควรเริ่มดำเนินการกับเด็กโต ช่วงชั้นที่ 2 หรือนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 เพราะถือว่าเริ่มมีความรับผิดชอบ สามารถดูแลรักษาหนังสือได้ อีกทั้งยังอยากให้ ศธ.พิจารณาหนังสือยืมเรียนเป็นรายวิชา หากวิชาใดจำเป็นต้องขีด เขียน หรือทำแบบฝึกหัด ก็ควรให้เป็นหนังสือเรียนฟรีเช่นเดิม
นางพรรณี สกุณา ผู้อำนวยการ สพป.นครศรีธรรมราช เขต 2 กล่าวว่า เดิม ศธ.ใช้นโยบายหนังสือยืมเรียน ซึ่งคืนปีละ 30% อยู่แล้ว แต่ภายหลังมาปรับเปลี่ยนเป็นหนังสือเรียนฟรี ส่วนตัวเห็นว่านโยบายนี้เป็นเรื่องที่ดี ประหยัด พอเพียง อีกทั้งยังเป็นการสอนให้เด็กรู้จักรักษาหนังสือเรียนให้อยู่ในสภาพที่ดี เพื่อส่งต่อให้รุ่นน้อง ส่วนเด็กที่มีอายุน้อยจะมีปัญหาในเรื่องการเก็บรักษาหรือไม่นั้น คิดว่าอยู่ที่การอบรมฝึกฝนของครู หากสอนให้รู้จักใช้หนังสืออย่างทะนุถนอมตั้งแต่เล็ก เมื่อโตขึ้นก็จะเป็นคนที่รู้จักคุณค่าของสิ่งของ
"ดิฉันคิดว่านโยบายนี้เป็นเรื่องที่ดี นอกจากช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศแล้วยังสอนให้เด็กได้ใช้หนังสืออย่างคุ้มค่า อีกทั้งการใช้หนังสือเก่าต่อจากรุ่นพี่ยังมีประโยชน์ เด็กจะได้อ่านชอร์ตโน้ตที่รุ่นพี่เขียนไว้ ทำให้สามารถเรียนได้เร็วขึ้น ทั้งนี้หากเป็นไปได้อยากให้แยกหนังสือยืมเรียนกับแบบฝึกหัดออกจากกัน เพื่อให้เด็กได้ฝึกทำแบบฝึกหัดที่แจกได้ทันที" นางพรรณีกล่าว
นายทวนทอง ศรีสวัสดิ์ สพป.เชียงใหม่ เขต 1 กล่าวว่า เห็นด้วยกับนโยบายหนังสือยืมเรียน เพราะเป็นเรื่องที่ดี สอนให้เด็กได้ใช้หนังสืออย่างมีประโยชน์และใช้อย่างเต็มที่ แต่อยากให้ยืมเรียนเฉพาะหนังสือเท่านั้น ถ้าเป็นแบบฝึกหัด อยากให้ติดตัวเด็กไป เพราะเด็กต้องใช้ขีดเขียนเพื่อฝึกทำโจทย์ต่างๆ จึงอาจไม่เหมาะสมที่ให้ใช้ยืมเรียนเช่นเดียวกับหนังสือ
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน