เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวระหว่างการประชุมแนวทางดำเนินนโยบายการศึกษาปฐมวัย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 30 หน่วยงาน ตอนหนึ่งว่า เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับประชามติ ประกาศไว้ชัดเจนว่า รัฐจะต้องสนับสนุนการศึกษาภาคบังคับตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ซึ่งจากข้อมูลประชากรพบว่า เด็กที่อายุ 3 ปี มีจำนวน 760,896 คน อยู่ในการดูแลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 188,344 คน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แบ่งเป็นชั้นอนุบาล 1 60,055 คน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 437,000 คน ไม่ได้เข้าเรียน 72,706 คน และในข้อมูลเด็กที่มีอายุ 4 ปี มีจำนวน 823,309 คน อยู่ในการดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 450,186 คน อปท. 87,124 คน สช. 210,271 คน กลุ่มโรงเรียนสาธิต 1,151 คน และไม่ได้เข้ารับการศึกษา 83,577 คน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาถือว่าประเทศไทยมีระบบบริหารจัดการเรื่องดูแลเด็กแรกเกิดถึง 4 ปี อยู่ในเกณฑ์ที่ดี มีเด็กเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่ยังเข้าไม่ถึงการดูแล หลังจากนี้ต้องเข้าไปดูเรื่องรูปแบบ การจัดการศึกษา คุณภาพมาตรฐาน และหลักสูตรที่จะช่วยส่งเสริมทักษะของเด็กด้วย
รมว.ศธ. กล่าวอีกว่า เนื่องจากการดูแลเด็กปฐมวัยเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ดังนั้น ในวันที่ 30 มี.ค.นี้ จะมีการลงนามความร่วมมือกับทุกหน่วยงานโดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยรัฐ 18 มี.ค. 2560