เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2560 เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ (www.moe.go.th) ได้เผยแพร่ ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 133/2560 ผลประชุมองค์กรหลัก 11/2560 โดยมีเนื้อหา ดังนี้
ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมองค์กรหลัก ครั้งที่ 11/2560 เมื่อวันอังคารที่ 14 มีนาคม 2560 ณ ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยมี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม รวมทั้ง พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ และ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมประชุม
ดร.กมล รอดคล้าย โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้แจ้งเรื่องผลการประชุมคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ใน 3 เรื่องหลัก คือ
1) เห็นชอบ (ร่าง) แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาการศึกษาในช่วงระยะเวลาดังกล่าวต่อไป โดยมี 6 ยุทธศาสตร์หลักที่สำคัญ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา ยุทธศาสตร์ที่ 5 การจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการศึกษา (อ่านข่าวนี้เพิ่มเติมที่ 129/2560)
2) Thailand Digital
นายกรัฐมนตรีได้ปรารภเกี่ยวกับการก้าวสู่ Thailand Digital ว่าขอให้ทุกหน่วยงานประเมินและทบทวนการทำงานรองรับแนวทางพัฒนาของประเทศ จึงขอให้ทุกองค์กรหลัก โดยมีสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพ พิจารณาทบทวนกระบวนการทำงาน เพื่อปรับให้มีความทันสมัยมากขึ้น มีการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านต่าง ๆ เช่น การประสานงาน การสื่อสารภายในหน่วยงาน การประชุม การจัดระบบให้บริการแก่ประชาชน อาทิ การรับสมัคร เอกสาร แบบฟอร์มออนไลน์ เป็นต้น โดยให้เน้นประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นหลัก
3) การวิจัยสมุนไพร
จากการที่นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเยี่ยมชมโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี พบว่าโรงพยาบาลดังกล่าวและหน่วยงานในพื้นที่ ได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพรจำนวนมาก จึงขอให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ใกล้เคียงให้การสนับสนุนงานด้านวิชาการแก่โรงพยาบาล องค์กร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ รวมทั้งให้การสนับสนุนทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อต่อยอดกิจกรรมที่ดำเนินการอยู่แล้ว นำไปสู่การเกิดนวัตกรรมใหม่และเพิ่มมูลค่าสินค้าท้องถิ่น
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือในเรื่องต่าง ๆ เพิ่มเติม ดังนี้
- การเตรียมความพร้อมการจัดประชุมชี้แจงระบบการทำงานคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ในวันพุธที่ 29 มีนาคม 2560 ที่โรงแรมปรินซ์ พาเลซ มหานาค เพื่อเตรียมประกาศจัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการภาค ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 11/2559 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2559 เรื่อง การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค และการจัดตั้งศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) โดยจะมีการหารือใน 4 เรื่องหลัก คือ
1) สถานที่ตั้งสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมในทุกจังหวัดทั่วประเทศ
2) การโอนงบประมาณ ซึ่งได้รับจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) รวม 1,400 ล้านบาท โดยจะต้องโอนงบประมาณดังกล่าวลงไปยังสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด/กรุงเทพมหานคร ต่อไป
3) การเกลี่ยบุคลากร ซึ่งจะต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ
4) การมอบอำนาจการดำเนินงานจากส่วนกลางลงไปส่วนภูมิภาค พร้อมออกเป็นประกาศแจ้งบุคลากรรับทราบอย่างทั่วถึงต่อไป
- การสอบบรรจุครูของ สพฐ. ในช่วงระหว่างภาคเรียน ซึ่งเป็นข้อกังวลของโรงเรียนเอกชนเสมอมา เพราะเกิดผลกระทบต่อการเรียนการสอน ที่ไม่สามารถหาครูมาทดแทนได้ทัน ซึ่ง สพฐ. ได้เตรียมการปรับระบบการสอบและการบรรจุแต่งตั้งข้าราชการครูผู้ช่วยให้แล้วเสร็จภายในกลางเดือนเมษายนนี้ (หรือเร็วขึ้นจากปีที่ผ่านมา 15 วัน) เพื่อให้โรงเรียนเอกชนหาครูมาทดแทนได้ทันก่อนเปิดภาคเรียน ส่วนการบรรจุครูทดแทนการเกษียณอายุราชการในเดือนตุลาคมนั้น สพฐ. จะได้มีการหารือกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานในความรับผิดชอบ 2 เรื่อง คือ
1) การศึกษาพื้นที่ชายแดน ขณะนี้ได้จัดทำร่างแผนการศึกษาพื้นที่ชายแดนเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมตั้งคณะกรรมการดำเนินการ จำนวน 4 ชุด คือ คณะกรรมการอำนวยการฯ, คณะกรรมการดำเนินงาน, คณะกรรมการระดับภาค, คณะกรรมการระดับจังหวัด เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนแผนจัดการศึกษาและพัฒนาที่ครอบคลุม 27 จังหวัดที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยในปีการศึกษา 2560 ได้กำหนดพื้นที่ดำเนินการเร่งด่วนใน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องชาติพันธุ์และปัญหาการอ่านออกเขียนได้
ทั้งนี้ ได้เตรียมการจัดการประชุมชี้แจงแผนการศึกษาพื้นที่ชายแดน ในวันจันทร์ที่ 27 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมเอสดี อเวนิว กรุงเทพฯ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบแผนพัฒนาการศึกษาพื้นที่ชายแดน ได้แก่ ผู้บริหารองค์กรหลัก ศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด ประธานกรรมการการอาชีวศึกษา ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ตลอดจนข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้ทั้ง 4 จังหวัดกลับไปร่างแผนปฏิบัติการพัฒนาการศึกษาของจังหวัด พร้อมส่งให้ศึกษาธิการภาคภายในวันที่ 15 เมษายน 2560 เพื่อรวบรวมจัดทำเป็นแผนการศึกษาพื้นที่ชายแดนระดับภาค และนำไปสู่การขับเคลื่อนได้ทันเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2560 ต่อไป
2) การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาแบบบูรณาการเพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประชุมการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ครบถ้วนทั้ง 3 จังหวัดแล้ว คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา และขณะนี้จะจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาแบบบูรณาการเพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อพัฒนากำลังคนไปส่งเสริมเขตเศรษฐกิจในพื้นที่ดังกล่าว ระหว่างวันที่ 23-25 มีนาคม 2560 ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน จังหวัดชลบุรี โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดการประชุม และ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ร่วมรับฟังแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัดแบบบูรณาการในการจัดการศึกษาเพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกในภาพรวม พร้อมทั้งมีการบรรยายพิเศษของ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ เรื่อง แนวทางการจัดทำแผนยุทธศาสตร์แบบบูรณาการเพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมกว่า 1,000 คน
นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
16/3/2560
ที่มา กระทรวงศึกษาธิการ 16 มีนาคม 2560