"หมอธี" หารือ "วิษณุ" รอศาลปกครองสูงสุดชี้ขาด ด้านกลุ่ม ทปอ.บอกไม่ใช่ปัญหา 60 แล้วยังมีไฟศักยภาพสูงนำพามหา'ลัยไปได้อีกไกล
วันที่ 16 มี.ค.60 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ตนได้หารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กรณีที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) ยื่นหนังสือเรื่องแต่งตั้งอธิการบดีจากผู้เกษียณอายุราชการขัดต่อกฎหมาย ต่อประธานองคมนตรี ผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และตน
โดยล่าสุดที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) ออกแถลงการณ์โดยระบุว่าสามารถกระทำได้ และชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งนายวิษณุเห็นว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงการตัดสินของศาลปกครองชั้นต้น จึงถือว่าเรื่องยังไม่สิ้นสุด ถ้าเราไปเปลี่ยนแปลงอะไรจะเกิดความวุ่นวาย จึงให้มหาวิทยาลัยดำเนินตามกฎเกณฑ์เก่าไปก่อน จนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งใดออกมา
อย่างไรก็ตาม เท่าที่ดูนอกจากมหาวิทยาลัยกลุ่ม มรภ. กลุ่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ก็น่าจะมีมหาวิทยาลัยในกลุ่มที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ด้วยหลายแห่งที่เปิดกว้างให้ ผู้ที่เกษียณอายุราชการ สามารถเป็นอธิการบดีได้
"เรื่องนี้ไม่มีใครคิดมาก่อน พอมีคนทักขึ้นมาจึงเป็นประเด็น ซึ่งน่าคิด หลักการคือแต่ละแห่งจัดทำข้อบังคับในการสรรหาอธิการบดีของตัวเอง โดยเปิดกว้างไม่จำกัดอายุผู้สมัคร แต่กฎหมายของมหาวิทยาลัยหลายที่ บอกว่าพนักงานมหาวิทยาลัยต้องเกษียณอุราชการที่ 60 ปี ดังนั้นจึงขัดแย้งกัน เพราะเมื่อเข้ามาเป็นอธิการบดี ก็ต้องถือว่า เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย แต่ตอนไปออกข้อบังคับการสรรหารอธิการบดี กลับเปิดกว้างให้อายุเท่าไรก็ได้ ทั้งนี้ หากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่ง ว่าผู้ที่เกษียณอายุราชการแล้วไม่สามารถเข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดีได้คงวุ่นวาย ซึ่งนักกฎหมายต้องไปดูว่าจะทำอย่างไร ผมทราบว่าทุกคนมีความกังวลและเกือบทุกมหาวิทยาลัยมีประเด็นนี้ หากมีการปรับแก้จริงก็คงต้องทำทั้งระบบ"
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเรื่องนี้ทุกมหาวิทยาลัยไม่ได้ตั้งใจ พอคัดเลือกคนมาแล้วก็บังเอิญไปขัดกับกฎหมายของมหาวิทยาลัย
ด้าน นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ที่การเขียนกฎหมาย ซึ่งทั้ง มรภ. และ มทร.ไปกำหนดข้อบังคับ หรือหลักเกณฑ์ที่บีบรัดตัวเองมากเกินไป จนทำให้เกิดปัญหาฟ้องร้องหลายแห่ง ยืดเยื้อมานานหลายปี
สำหรับมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิก ทปอ. ไม่มีปัญหา กฎหมายเขียนชัดเจนว่าเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกษียณอายุราชการเป็นอธิการบดีได้ เพราะถือว่าแม้จะเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ก็ยังมีความรู้ความสามารถมากพอที่จะบริหารมหาวิทยาลัยได้
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก สยามรัฐ 16 มีนาคม 2560
ด้านไทยโพสต์ ได้นำเสนอข่าว ดังนี้
ประธานทปอ.ยันวัยเกษียณเป็นอธิการได้
รอคำสั่งศาลปกครองสูงสุดกรณีตั้งอธิการบดีจากผู้เกษียณอายุราชการขัดต่อกฎหมายหรือไม่ "รมว.ศธ." เผยหากมีการปรับแก้จริงก็คงต้องทำทั้งระบบ ด้านอธิการบดี มม.ชี้เรื่องนี้อยู่ที่การเขียนกฎหมาย ส่วน ทปอ.ไม่มีปัญหา กฎหมายเขียนชัดเจนว่าเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกษียณอายุราชการเป็นอธิการบดีได้ ถือว่ายังมีความรู้ความสามารถมากพอที่จะบริหารมหาวิทยาลัย
จากกรณีที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) ยื่นหนังสือเรื่องแต่งตั้งอธิการบดีจากผู้เกษียณอายุราชการขัดต่อกฎหมาย ต่อประธานองคมนตรี ผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ซึ่งต่อมาที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) ออกแถลงการณ์ระบุว่าสามารถกระทำได้และชอบด้วยกฎหมายนั้น
นพ.ธีระเกียรติกล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตนได้หารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ถึงกรณีดังกล่าว ซึ่งนายวิษณุเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเพียงการตัดสินของศาลปกครองชั้นต้น จึงถือว่ายังไม่สิ้นสุด ถ้าจะไปเปลี่ยนแปลงอะไรจะเกิดความวุ่นวาย จึงให้มหาวิทยาลัยดำเนินตามกฎเกณฑ์เก่าไปก่อนจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งใดออกมา อย่างไรก็ตาม เท่าที่ดูนอกจากมหาวิทยาลัยกลุ่ม มรภ. กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ก็น่าจะมีมหาวิทยาลัยในกลุ่มที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) หลายแห่งด้วยที่เปิดกว้างให้ผู้ที่เกษียณอายุราชการสามารถเป็นอธิการบดีได้ ซึ่งโดยหลักการของเรื่องนี้คือ แต่ละแห่งจัดทำข้อบังคับในการสรรหาอธิการบดีของตัวเอง โดยเปิดกว้างให้ไม่จำกัดอายุผู้สมัคร แต่กฎหมายของมหาวิทยาลัยหลายที่บอกว่า พนักงานมหาวิทยาลัยต้องเกษียณอายุราชการที่ 60 ปี ดังนั้นจึงขัดแย้งกัน เพราะเมื่อเข้ามาเป็นอธิการบดีก็ต้องถือว่าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ หากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งว่าผู้ที่เกษียณอายุราชการแล้วไม่สามารถเข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดีได้คงวุ่นวาย ซึ่งนักกฎหมายต้องไปดูว่าจะทำอย่างไร แต่ทราบว่าทุกคนมีความกังวลและเกือบทุกมหาวิทยาลัยมีประเด็นนี้ หากมีการปรับแก้จริงก็คงต้องทำทั้งระบบ แต่ตนเชื่อว่าเรื่องนี้ทุกมหาวิทยาลัยไม่ได้ตั้งใจ
นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ที่การเขียนกฎหมาย ซึ่ง มรภ.และ มทร.ไปกำหนดข้อบังคับหรือหลักเกณฑ์ที่บีบรัดตัวเองมากเกินไป จนทำให้เกิดปัญหาฟ้องร้องหลายแห่ง ยืดเยื้อมานานหลายปี สำหรับมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิก ทปอ.ไม่มีปัญหา กฎหมายเขียนชัดเจนว่าเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกษียณอายุราชการเป็นอธิการบดีได้ เพราะถือว่าแม้จะเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ก็ยังมีความรู้ความสามารถมากพอที่จะบริหารมหาวิทยาลัยได้.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยโพสต์ วันที่ 17 มีนาคม 2560