“หมอธี”ถกร่วม สพฐ.-คุรุสภา เร่งตั้งสถาบันคุรุพัฒนา เดินหน้าจัดคอร์สอบรมพัฒนาครู เชื่อมโยงการขอมีและเลื่อนวิทยะฐานะแนวใหม่ เลิกดูผลงานกระดาษ ดีเดย์ประกาศใช้ 5 ก.ค.60
วันนี้(13 มี.ค.)นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตนได้หารือร่วมกับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ถึงการจัดตั้งสถาบันคุรุพัฒนา เป็นหน่วยงานภายในของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เพื่อให้มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการพัฒนาและจัดอบรมและพัฒนาครูอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงทำหน้าที่รับรองหลักสูตรการอบรมของสถาบันหรือหน่วยจัดอบรมต่าง ๆ เพื่อให้การอบรมพัฒนาเชื่อมโยงกับการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะแนวใหม่ที่พิจารณาจากชั่วโมงและวิชาที่สอน แทนการทำผลงานทางวิชาการ โดย สพฐ.มีงบฯพัฒนาให้ครูคนละประมาณ 10,000 บาทต่อปี ทั้งนี้ตนจะนำเรื่องนี้เข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ในวันที่ 15 มี.ค.นี้
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า หลักการเบื้องต้น คือ สถาบันคุรุพัฒนาจะออกแบบคอร์สการอบรมรูปแบบใหม่ และรับรองหลักสูตรของหน่วยงานอื่น เพื่อให้ครูนำคูปองที่ได้รับคนละ 10,000บาทไปเลือกคอร์สอบรมตามที่ต้องการ เพื่อนำไปขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) กำลังคิดการนับชั่วโมงการอบรมพัฒนาว่า อบรมคอร์สไหนกี่ชั่วโมงถึงจะได้วิทยฐานะระดับใด ซึ่งหลังจากจัดทำคอร์สอบรมเสร็จเรียบร้อยก็จะเริ่มให้มีการจัดอบรม และให้เริ่มการขอมีหรือวิทยฐานะในรูปแบบใหม่ได้ ส่วนคนที่ค้างท่ออยู่ก็จะให้ดำเนินการต่อไป โดยผสมผสานรูปแบบเก่าและใหม่ แต่จะยกเลิกการพิจารณาผลงานทางวิชาการ
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชหัตถเลขาเมื่อวันที่ 5 ก.ค.2555 ว่า ปัญหาปัจจุบันของครู คือ ครูมุ่งเขียนงานวิทยานิพนธ์ เพื่อให้มีเงินเดือนสูงขึ้น ส่วนครูที่มุ่งการสอนหนังสือกลับไม่ได้อะไรตอบแทน ดังนั้นในวันที่ 5 ก.ค.2560 นี้ผมจะยกเลิกระบบการทำผลงานทางวิชาการที่เป็นกระดาษอย่างเป็นทางการ แต่จะให้นับชั่วโมงการสอน การอบรม และ แอคทีฟเลินนิ่งมาใช้แทน”นพ.ธีระเกียรติกล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 13 มีนาคม 2560 เวลา 16.44 น.
5 ก.ค.ปลดแอกครูจากผลงานกระดาษ
ศธ.เร่งแจ้งเกิด "สถาบันคุรุพัฒนา" แจกคูปองให้ครูลงคอร์สอบรมตนเอง นับชั่วโมงสอน-นำแอคทีฟเลิร์นนิ่ง เชื่อมโยงขอมีวิทยฐานะ
วันที่ 13 มี.ค.60 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่าได้มีการหารือถึงการจัดตั้งสถาบันคุรุพัฒนา ซึ่งเป็นสำนักภายในของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เพื่อทำหน้าที่ในการพัฒนาและจัดอบรมครูในสังกัด สพฐ.โดยจะมีการจัดทำคอร์สการอบรมครูในรูปแบบใหม่ นอกจากนี้หากมีหลักสูตรที่ผู้อื่นจัด ถ้าคิดว่าจัดได้ดีก็สามารถนำมาให้สถาบันคุรุพัฒนาให้การรับรองหลักสูตรได้ เพื่อให้ครูสามารถที่จะเลือกช้อปคอร์สอบรมตามที่ครูต้องการ
ซึ่งทางสถาบันคุรุพัฒนา จะช่วยให้คำแนะนำครูว่าจะพัฒนาคอร์สไหน ถึงจะเชื่อมโยงกับการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะแนวใหม่ โดยขณะนี้ สพฐ.มีงบพัฒนาครูอยู่แล้วประมาณ 10,000 บาทต่อคนต่อปี แต่ที่ผ่านมาให้แบบกระจัดกระจาย ซึ่งหลังจากนี้จะจัดเป็นคูปองให้กับครูเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาตนเอง โดยคูปองดังกล่าวจะมีอายุ 1 ปี ทั้งนี้เหตุผลที่ต้องมีการจัดตั้งสถาบันคุรุพัฒนาขึ้นมา ก็เพื่อทำให้มีผู้รับผิดชอบในการพัฒนาและอบรมครูอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งตนจะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ในวันที่ 15 มี.ค.60 นี้
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า เมื่อสถาบันคุรุพัฒนาจัดทำคอร์สในการอบรมครูขึ้นมา ครูจะเลือกเองว่าจะอบรมคอร์สไหน ที่จะนำไปขอวิทยฐานะได้ โดยครูจะต้องมีพอร์ตฟอลิโอ และล็อคบุ๊ค หรือสมุดบันทึกผลเพื่อบันทึกชั่วโมงการสอนรวมทั้งการอบรม หรือเป็นการรวมกลุ่มเพื่อจัดการความรู้และแชร์ประสบการณ์ในระบบ PLC หรือกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบแอคทีฟเลิร์นนิ่ง ซึ่งสามารถนำไปเป็นหลักฐานในการขอวิทยฐานะได้ ซึ่งขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำลังคิดการนับชั่วโมงการอบรมพัฒนาว่าอบรมคอร์สไหน กี่ชั่วโมงถึงจะได้วิทยฐานะชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เป็นต้น
ทั้งนี้ หลังจากมีการจัดทำคอร์สอบรมเสร็จเรียบร้อย ก็จะเริ่มทันที และให้เริ่มขอวิทยฐานะในรูปแบบใหม่ได้หลังจากที่ชะลอมานาน ส่วนผู้ที่ค้างท่ออยู่ ก็จะให้ดำเนินการต่อไปได้ โดยจะมีการนำรูปแบบเก่าและใหม่มาผสมผสานกัน แต่จะยกเลิกการพิจารณาผลงานทางวิชาการ
"พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9ทรงมีพระราชหัตถเลขา เมื่อวันที่ 5ก.ค.2555 ว่า ปัญหาปัจจุบันของครู คือครูมุ่งเขียนงานวิทยานิพนธ์ เพื่อให้มีเงินเดือนสูงขึ้น ส่วนครูที่มุ่งการสอนหนังสือกลับไม่ได้อะไรตอบแทน ดังนั้นในวันที่ 5ก.ค.2560 นี้ ผมจะยกเลิกระบบการทำผลงานทางวิชาการ ที่เป็นกระดาษอย่างเป็นทางการ แต่จะให้นับชั่วโมงการสอน การอบรม การทำ PLC และแอคทีฟเลิร์นนิ่งมาใช้แทน" นพ.ธีระเกียรติ กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก สยามรัฐ วันที่ 13 มีนาคม 2560