จากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมพ์ (Donald Trump) ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเพื่อเป็นประธานาธิบดีคนที่ ๔๕ ของสหรัฐอเมริกา และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของแรงกระเพื่อมของวิถีประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกาอย่างรุนแรง หลายคนบอกว่า “นั่นคือเรื่องของสหรัฐอเมริกาแล้วเราจะสนใจทำไม” เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามของประเทศมหาอำนาจ แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบทั่วโลก เราในฐานะนักวิชาการศึกษาก็ควรจะเรียนรู้ความคิดและทิศทางของการศึกษาในมุมมองของประธานาธิบดีคนนี้
ลิซ่า นีลเซน (Lisa Nielsen) บล็อกเกอร์ (Blogger) ชาวอเมริกันได้บันทึกบทความในบล็อก (blog) ไว้อย่างน่าสนใจ โดยลิซ่าได้สังเคราะห์แนวคิดด้านการศึกษาของทรัมพ์ที่เขียนไว้ในหนังสือ ๓ เล่ม คือ The America We Deserve, Think Like a Champion และ Great Again: How to Fix Our Crippled America และได้ผลการสังเคราะห์ออกมาเป็น ๓ ประเด็นสำคัญที่อาจจะเป็นนโยบายด้านการศึกษาของสหรัฐอเมริกาในอนาคตเมื่อทรัมพ์ขึ้นรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ดังนี้
๑. การลดหลักสูตรแกนกลาง เพิ่มแผนความสำเร็จรายบุคคล (Less Common Core – More Personal/Student Success Plans)
๒. การลดอำนาจของกระทรวงศึกษาธิการ เพิ่มการกระจายอำนาจสู่หน่วยงานท้องถิ่น (Less DOE – More Distribution of Service to Local & Other Executive Branch Department)
๓. การลดการทดสอบมาตรฐานกลาง เพิ่มใบรับรอง ประกาศนียบัตรและแฟ้มผลงาน (Less Standardized Testing – More Micro-credential, Certifications, and Portfolio)
การลดหลักสูตรแกนกลาง เพิ่มแผนความสำเร็จรายบุคคล (Less Common Core – More Personal/Student Success Plans)
“การศึกษาจะต้องเป็นการดำเนินการโดยท้องถิ่น นโยบายการใช้หลักสูตรแกนกลาง นโยบายไม่มีเด็กคนไหนถูกทอดทิ้ง และการแข่งขันสู่ที่หนึ่งนั้น ล้วนแล้วแต่ทำให้ผู้ปกครองและคณะกรรมการโรงเรียนระดับท้องถิ่นไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ นโยบายเหล่านี้เป็นการปล่อยให้กระทรวงศึกษาธิการปลูกฝังความเชื่อมากกว่าให้การศึกษากับเด็กของเรา ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่สอดคล้องกับรูปแบบการกำกับดูแลของอเมริกา” (Trump, 2016)
จากข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ทรัมพ์ไม่เชื่อเรื่องการศึกษาแบบตัดเสื้อโหล (one-size-fits all) เชื่อว่านักเรียนแต่ละคนไม่ควรที่จะได้รับการศึกษาในรูปแบบเดียวกันหมดแต่สาระการเรียนรู้ควรจะสอดคล้องกับท้องถิ่นและอาชีพที่ผู้เรียนต้องการจะเป็น ดังนั้นจึงเป็นที่น่าสนใจมากว่าทิศทางของนโยบายการศึกษาของรัฐบาลทรัมพ์น่าจะเน้นการเรียนรู้แบบการเรียนรู้รายบุคคล (Personalised Learning) ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในหลายประเทศ เนื่องจากเป็นการจัดการเรียนการสอนที่เฉพาะนักเรียนแต่ละคน มากกว่าจะต้องเรียนรู้ในหลักสูตรหรือผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบเดียวกันหมด นักเรียนแต่ละคนจะมีแผนความสำเร็จส่วนบุคคล (Personal Success Plans) ซึ่งแผนความสำเร็จนี้จะส่งเสริมและกระตุ้นความชอบ พรสวรรค์ ความสนใจและความสามารถของนักเรียนแต่ละคนได้
การลดอำนาจของกระทรวงศึกษาธิการ เพิ่มการกระจายอำนาจสู่หน่วยงานท้องถิ่น (Less DOE – More Distribution of Service to Local & Other Executive Branch Department)
ทรัมพ์กล่าวไว้ชัดเจนว่า เขาต้องการที่จะลดบทบาทหรือทอนอำนาจของกระทรวงศึกษาธิการ เพราะเห็นว่า การศึกษาจะต้องมาจากความต้องการของท้องถิ่นและการศึกษาจะต้องเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนสู่การทำงาน นั่นหมายความว่า ทรัมพ์ตั้งใจที่จะกระจายอำนาจการบริการด้านการศึกษาของภาครัฐลงไปให้กับท้องถิ่นเป็นผู้บริหารจัดการการให้บริการ และกระจายความรับผิดชอบอื่นๆ ที่เกินพันธกิจและหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการให้กับกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงแรงงาน เป็นต้น ซึ่งเมื่อวิเคราะห์แล้วก็เป็นแนวโน้มของโลกอีกเช่นกันที่ภาครัฐจะลดอำนาจลงและกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมการมีส่วนร่วมตลอดจนการพัฒนานโยบายและการปฏิบัติให้ตรงกับความต้องการของท้องถิ่นอย่างแท้จริง เมื่อพิจารณาประเด็นนี้กับบริบทของประเทศไทยแล้วจะพบว่าสอดคล้องกับ (ร่าง) แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๔ ที่ได้กำหนดชัดเจนในยุทธศาสตร์ที่ ๖ การพัฒนาระบบบริหารจัดการและการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของทุกภาคส่วน โดยรัฐจะต้องปรับบทบาทจากผู้จัดการศึกษาเอง (Provider) เป็นเพียงผู้กำกับการจัดการศึกษา (Regulator) และจะต้องส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมให้ทุกภาคส่วนเข้ามาจัดหรือร่วมจัดการศึกษาให้มากขึ้น
การลดการทดสอบมาตรฐานกลาง เพิ่มใบรับรอง ประกาศนียบัตรและแฟ้มผลงาน (Less Standardized Testing – More Micro-credential, Certifications, and Portfolio)
ทรัมพ์ได้แสดงทรรศนะไว้ชัดเจนในหนังสือ Great Again ว่า จะต้องหยุดการวัดผลสมรรถนะด้วยการทดสอบมาตรฐานที่ไร้หัวใจ เขาต้องการการศึกษาที่สามารถเพิ่มโอกาสด้านอาชีพให้กับนักเรียน โดยจะเพิ่มการวัดและประเมินผลผ่านเครื่องมือที่หลากหลายเช่น ใบรับรอง ประกาศนียบัตรและแฟ้มผลงาน เป็นต้น
การใช้ระบบใบรับรองและประกาศนียบัตรจะเป็นหลักฐานที่แสดงว่านักเรียนมีทักษะในระดับที่เหมาะสมของแต่ละอาชีพ โดยสมาคมนานาชาติสำหรับการศึกษาเทคโนโลยี (International Society for Technology Education: ISTE) ได้แนะนำการใช้ระบบสะสมเครื่องหมาย (Badging system) ที่สร้างขึ้นโดย Mozilla’s Open Badge Infrastructure) เครื่องหมายต่างๆ (Badge) จะเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่าผู้เรียนได้มีการผ่านการฝึกอบรม มีความรู้และเป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละทักษะ เมื่อทำการเลือกเครื่องหมายเหล่านี้แล้วจะเชื่อมโยงไปสู่ข้อมูลที่เป็นหลักฐานรับรองการได้มาซึ่งเครื่องหมายนั้นๆ นอกจากนี้ การใช้แฟ้มผลงานของทรัมพ์จะอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Portfolios) ที่สามารถเชื่อมโยงกับวิทยาลัยและความพร้อมสำหรับการทำงาน โดย ดร.เฮเลน บาร์เรตต์ (Helen Barrett) ได้นำเสนอไว้ว่า e-Portfolios จะประกอบด้วย ๓ ระดับ คือ ระดับที่ ๑ การเก็บข้อมูล (Storage) ระดับที่ ๒ พื้นที่ทำงาน (Workspace) และระดับที่ ๓ การแสดงผลงาน (Showcase) ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่ลึกมากขึ้นผ่านการสนับสนุนให้นักเรียนสร้างชุดความเป็นเลิศรายบุคคล (collection of personal bests)
จาก ๓ ประเด็นข้างต้นจะเห็นได้ว่า แนวโน้มที่เด่นชัดของนโยบายการศึกษาของทรัมพ์คือ การศึกษารายบุคคลไม่ว่าจะเป็นการจัดการศึกษา การเรียนรู้ที่เฉพาะและเหมาะสมกับผู้เรียนเป็นรายบุคคลแล้ว การวัดและประเมินผลก็จำเป็นที่จะต้องเป็นรายบุคคลเช่นเดียวกัน จึงจะมีความสอดคล้องกันทั้งระบบ (input-process-output) อีกทั้งยังเน้นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาเป็นเครื่องมือในการจัดการข้อมูลอย่างบูรณาการไม่แยกส่วน ซึ่งจะส่งเสริมการนำข้อมูล (Big Data) ด้านการศึกษาไปวิเคราะห์ทิศทางความต้องการและการใช้ประโยชน์กำลังคนได้ นอกจากนี้ ยังมีความชัดเจนต่อแนวโน้มที่สำคัญของการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนให้เข้ามาช่วยลงทุนด้านการศึกษาอีกด้วย อย่างไรก็ดี ยังไม่แน่ชัดว่า เมื่อทรัมพ์รับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการในต้นปี ๒๕๖๐ การกำหนดนโยบายด้านการศึกษาจะเป็นดังที่วิเคราะห์ไว้หรือไม่ แต่การได้เห็นทรรศนะและแนวโน้มด้านนโยบายการศึกษาของทรัมพ์ก็เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาวางแผนการศึกษาของไทยได้ไม่มากก็น้อย
รายการอ้างอิง
Nielsen, L. (15 November 2016). 3 Areas A #TrumpEducation Admin Cld Focus On More. Retrieved from http://www.techlearning.com/blogentry/11459 Accessed on 20 November 2016.
Trump, D.J. (2016). Great Again: How to Fix Our Crippled America. Threshold Editions
โดย ดร.จอมหทยาสนิท พงษ์เสฐียร
สำนักนโยบายและแผนการศึกษา
ขอบคุณที่มาจาก สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา