กรุงเทพฯ — 7 มีนาคม 2560 — สมาร์ทโฟนเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ยิ่งไปกว่านั้น ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APAC) ครองสัดส่วนสูงสุดสำหรับการเติบโตดังกล่าว ตามข้อมูลจากรายงาน Mobile Adobe Digital Insights (ADI) ฉบับล่าสุด
รายงานดังกล่าวอ้างอิงผลการวิเคราะห์ทั่วโลกสำหรับการเยี่ยมชมเว็บไซต์กว่า 16,000 เว็บไซต์ จำนวน 1.7 ล้านล้านครั้ง ในช่วงเดือนมกราคม 2557 ถึงมกราคม 2560 โดยพบว่าสมาร์ทโฟนเป็นช่องทางของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่ราว 200 ล้านคนทั่วโลก ประเทศอินเดียและจีนมีผู้ใช้รายใหม่มากถึง 366.3 ล้านคน โดยอินเดียมี 268.9 ล้านคน และจีนมี 97.4 ล้านคนตามลำดับ ขณะที่อินโดนีเซียมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายใหม่ 15.7 ล้านคน
นายเทรเวอร์ โจนส์ นักวิเคราะห์อาวุโสของ ADI ระบุว่า การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นเกือบทั้งหมดเป็นผลมาจากสมาร์ทโฟน โดยเขากล่าวเพิ่มเติมว่า “แทรฟฟิกอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อจากเดสก์ท็อปและแท็บเล็ตอยู่ในระดับเท่าเดิมหรือลดลงในประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก”
แทรฟฟิกจากสมาร์ทโฟนในอินเดียเพิ่มขึ้น 290 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่ปี 2557 ขณะที่แทรฟฟิกจากเดสก์ท็อปลดลง 6 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอัตราการเติบโตของแทรฟฟิกจากแท็บเล็ตคงที่ที่ระดับ 3 เปอร์เซ็นต์
โจนส์ระบุว่า จีน อินเดีย มาเลเซีย และนิวซีแลนด์ เป็นประเทศที่ต้องจับตามองในแง่การเติบโตที่รวดเร็วของสมาร์ทโฟน “ประเทศเหล่านี้ไม่มีสัญญาณที่แสดงถึงการชะลอตัวในช่วงปี 2560” เขากล่าวเสริม
ผู้ใช้สมาร์ทโฟนรายใหม่หลายล้านคนเข้าสู่ระบบออนไลน์
ขณะที่การเติบโตของโทรศัพท์มือถือในจีนถือว่าค่อนข้างต่ำ แต่โจนส์ตั้งข้อสังเกตว่า “การเพิ่มขึ้นแต่ละเปอร์เซ็นต์หมายถึงจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนหลายล้านคนที่เข้าสู่อินเทอร์เน็ต” รายงาน ADI คาดการณ์ว่าสัดส่วนของแทรฟฟิกอินเทอร์เน็ตจากสมาร์ทโฟนในจีนจะแตะระดับ 37 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2561 เพิ่มขึ้นจาก 18 เปอร์เซ็นต์ในปี 2557
อินเดียมีสัดส่วนของแทรฟฟิกอินเทอร์เน็ตจากสมาร์ทโฟนสูงอยู่แล้ว และไม่มีสัญญาณบ่งบอกว่าการเติบโตจะชะลอตัวลง โดย ADI คาดการณ์ว่าสัดส่วนของสมาร์ทโฟนจะเพิ่มเป็น 46 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2561 เพิ่มขึ้นจาก 18 เปอร์เซ็นต์ในปี 2557
ในอดีต มาเลเซียและนิวซีแลนด์ตามหลังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก แต่ในอนาคตคาดว่าความแพร่หลายของสมาร์ทโฟนจะแตะระดับ 40 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2561
ส่วนประเทศที่ใช้งานสมาร์ทโฟนอย่างแพร่หลายในระดับสูงได้แก่ ญี่ปุ่น เม็กซิโก และชิลี โดยแต่ละประเทศมีแทรฟฟิกอินเทอร์เน็ตจากสมาร์ทโฟนอย่างน้อย 46 เปอร์เซ็นต์
การใช้งานโมบายล์แอพขยายตัวอย่างรวดเร็วในอินเดีย
ในเรื่องของการติดตั้งแอพเพิ่มมากขึ้น อินเดียครองตำแหน่งผู้นำด้วยอัตราการเติบโต 49 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา แตกต่างจากประเทศส่วนใหญ่ที่มีการใช้แอพลดลง
“อัตราการใช้งานสมาร์ทโฟนที่สูงมากในประเทศกำลังพัฒนาส่งผลให้การใช้งานแอพอยู่ในระดับคงที่ ขณะที่ประเทศอื่นๆ อย่างเช่น สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร มีการติดตั้งแอพลดลง -9 เปอร์เซ็นต์ และ -38 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา” โจนส์กล่าว “คาดว่าแนวโน้มดังกล่าวจะเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน”
ขณะที่เอเชียเริ่มเปลี่ยนย้ายจากแท็บเล็ตไปสู่สมาร์ทโฟนที่มีราคาถูกกว่าและใช้งานสะดวกสบายมากกว่า โจนส์เชื่อว่าการใช้งานที่เพิ่มขึ้นก่อให้เกิดความท้าทายสำหรับนักการตลาด
“สมาร์ทโฟนช่วยให้ผู้ใช้หลายล้านคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยที่ก่อนหน้านี้พวกเขาไม่มีโอกาสได้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมาก่อน ประเทศกำลังพัฒนาหันมาให้สมาร์ทโฟนเพิ่มมากขึ้นจนแซงหน้าหลายๆ ประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลก” โจนส์กล่าว
“นักการตลาดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จำเป็นที่จะต้องเข้าใจว่าผู้บริโภคจำนวนมากอาจไม่เคยใช้คอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปหรือแท็บเล็ตมาก่อน และประสบการณ์บนสมาร์ทโฟนจะต้องมีความราบรื่นมากพอเพื่อดึงดูดและสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้ใช้”
จีนและอินเดียนำเสนอโอกาสสูงสุด
รายงาน Mobile ADI แสดงโร้ดแมปที่ครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุดเกี่ยวกับแทรฟฟิกโมบายล์อินเทอร์เน็ตทั่วโลก และไม่ต้องสงสัยเลยว่าการเติบโตส่วนใหญ่มุ่งสู่อินเดียและจีน
“โอกาสสูงสุดอยู่ในอินเดียและจีน โดยประเทศทั้งสองมีการเติบโตที่สูงมาก แต่ประชากรจำนวนมากยังคงไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต” โจนส์กล่าวเพิ่มเติม
“ทุกๆ หนึ่งเปอร์เซ็นต์ของการเปลี่ยนแปลงในสัดส่วนของแทรฟฟิกหรือการเติบโตของแทรฟฟิกก่อให้เกิดผลกระทบสูงกว่ามากในประเทศเหล่านี้ อินเดียและจีนยังคงมีประชากรหลายล้านคนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ด้วยเหตุนี้ประเทศทั้งสองจึงเป็นตลาดที่จะสามารถขยายธุรกิจให้เติบโตได้ง่ายที่สุด”
เกี่ยวกับบริษัทอะโดบี ซีสเต็มส์ อินคอร์เปอร์เรทเต็ต
อะโดบีเปลี่ยนโลกผ่านประสบการณ์ด้านดิจิตอล รายละเอียดเพิ่มเติม www.adobe.com/sea
ติดตามอะโดบีผ่านเฟสบุ๊กที่ https://www.facebook.com/AdobeSEA/