กยศ.เร่งทำกฎหมายลูกรองรับ พ.ร.บ.กองทุนฯฉบับใหม่ ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 26 ก.ค.นี้ ยันเพิ่มโอกาสผู้กู้มากขึ้น
วันนี้( 7 มี.ค.) ดร.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กองทุนฯ อยู่ระหว่างการจัดทำร่างกฎหมายลูกเพื่อรองรับการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 26 ก.ค. 2560 เป็นต้นไป โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ จะเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษาในการกู้ยืมมากขึ้น โดยมี 4 ลักษณะ คือ 1. ขาดแคลนทุนทรัพย์ 2.ศึกษาในสาขาวิชาความต้องการหลักต่อการพัฒนาประเทศ 3. ศึกษาในสาขาขาดแคลน หรือ มุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ และ 4.เรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ
ดร. ฑิตติมา กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้พ.ร.บ. ใหม่ ยังเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของกองทุน โดยเฉพาะการติดตามหนี้ คือ กำหนดให้องค์กรนายจ้างมีหน้าที่หักเงินได้ที่มาจากการจ้างแรงงาน เช่น เงินเดือนค่าจ้างของผู้กู้ยืมที่เป็นพนักงานลูกจ้าง นำส่งกรมสรรพากร พร้อมกับการนำส่งภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่ายเพื่อชำระหนี้คืนกองทุน รวมทั้งกองทุนฯสามารถขอข้อมูล หรือ เปิดเผยข้อมูลเท่าที่จำเป็น ของผู้กู้ยืม เพื่อประโยชน์ในการบริหารกองทุน และการติดตามการชำระเงินคืนเท่านั้น อีกทั้งกฎหมายใหม่จะช่วยป้องกันความเสี่ยงมิให้ผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้ต้องเสียเบี้ยปรับและถูกดำเนินคดีและบังคับคดี ด้วย
“โดยภาพรวมแล้ว พ.ร.บ.ใหม่จะเป็นการบูรณาการความร่วมมือ ระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นระบบ ในการส่งเสริมวินัยทางการเงิน ป้องกันความเสี่ยงของผู้กู้ยืม รวมถึงสร้างจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อเงินกู้ยืมที่นำมาจากงบประมาณแผ่นดิน เพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษาในรุ่นต่อไป” ผู้จัดการ กยศ. กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 7 มีนาคม 2560 เวลา 15.39 น.