"รมว.ศธ." วางแนวทางปฏิรูปครูครบวงจร เชื่อมการพัฒนาครูกับวิทยฐานะ วัดจากชั่วโมงการสอน ให้ ผอ.รับรอง พร้อมมีกรอบเวลาการขอเลื่อนวิทยฐานะในแต่ละขั้น ส่วนงบพัฒนาครูจะใช้เป็นระบบคูปอง 10,000 บาทต่อคนต่อปี สกศ.เผยบิ๊กตู่แนะ ศธ.ปัดฝุ่นกรมฝึกหัดครู หรือตั้งหน่วยงานขึ้นใหม่
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวมอบนโยบายให้แก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศตอนหนึ่งว่า การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเน้นย้ำแนวทางการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งดำเนินการปฏิรูปการศึกษามาตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน แต่กลับพบว่าผลการสอบนักเรียนระดับนานาชาติ หรือพิซา ไม่ได้ขยับเพิ่มสูงขึ้นเท่าที่ควร โดยวัดจากคะแนนเด็กเก่งอยู่ที่ 550 และเด็กอ่อนอยู่ที่ 350 นั้น สะท้อนให้เห็นว่าเราล้มเหลวด้วยวิธีการปฏิบัติ ดังนั้น หากจะพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างเท่าเทียม เราไม่ควรพัฒนาในเด็กเก่ง แต่ควรจะมุ่งยกระดับเด็กเรียนอ่อนให้มาเป็นเด็กเก่งให้ได้ นอกจากนี้ เราจะมีการปฏิรูปครูอย่างครบวงจร ทำให้เป็นระบบสากลมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาการทำผลงานวิชาการของครูไม่ได้มุ่งคุณภาพการสอน เน้นงานเอกสาร ทำให้การทำงานไม่สอดคล้องกับวิทยฐานะ ดังนั้นตนจึงวางแนวทางที่จะทำให้การพัฒนาครูเชื่อมโยงกับวิทยฐานะ ซึ่งจะวัดจากชั่วโมงการทำงาน โดยมีกรอบในเบื้องต้นว่า ต้องผ่านการเป็นครูผู้ช่วย 2 ปี ชำนาญการ 5 ปี ชำนาญการพิเศษ 5 ปี เชี่ยวชาญ 5 ปี และเชี่ยวชาญพิเศษ 5 ปี และการจะเสนอขอเลื่อนวิทยฐานะในแต่ละขั้น ครูต้องมีชั่วโมงสอน 800 ชั่วโมงต่อปี เช่น ถ้าจะเลื่อนวิทยฐานะเป็นชำนาญการก็ต้องมีชั่วโมงสอน 4,000 ชั่วโมง ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนจะเป็นผู้รับรองชั่วโมงการสอนของครู หากจะขึ้นเป็นชำนาญการพิเศษก็ต้องมี 8,000 ชั่วโมง พร้อมกับเข้าอบรมพัฒนาในหลักสูตรที่ได้รับรองมาตรฐานตามระดับวิทยฐานะ ทั้งนี้จะไม่มีการตรวจเหมือนผลงานวิชาการ แต่จะมีการสุ่มตรวจ หากพบว่าชั่วโมงการสอนไม่ครบ มีการแจ้งข้อมูลเท็จ ก็จะปรับให้เริ่มนับหนึ่งใหม่ และจะแจ้งดำเนินคดีต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วย
นพ.ธีระเกียรติกล่าวต่อว่า สำหรับงบประมาณที่ใช้ในการพัฒนาครูนั้น เท่าที่ดูขณะนี้มีอยู่ประมาณ 10,000 ล้านบาท แต่มีการใช้แบบกระจัดกระจาย ต่อไปนี้การอบรมครูตนจะใช้เป็นระบบคูปอง โดยจะให้คูปองกับครูจำนวน 10,000 บาทต่อคนต่อปี เพื่อเลือกไปเข้าอบรมพัฒนาตัวเองให้สอดคล้องกับการเลื่อนวิทยฐานะ ซึ่งปัจจุบันเรามีครูทั่วประเทศกว่า 400,000 คน จะใช้งบเพียง 4,000 ล้านบาทเท่านั้น จะทำให้ประหยัดงบไปได้มาก จะได้นำเงินส่วนที่เหลือไปพัฒนาครูด้านอื่นๆ ต่อไป หรือถ้าเงินเหลือเยอะก็อาจมาจัดสรรเพิ่มเติมในการอบรมให้กับครู ทั้งนี้จะเร่งจัดทำเกณฑ์ดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อจะได้นำเกณฑ์ใหม่มาใช้ในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม จะต้องมีบทเฉพาะกาลให้สำหรับผู้ที่ยื่นเพื่อขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์เก่าด้วย
"ก่อนจะมีการประชุมครั้งนี้ ผมทราบว่าเกิดกระแสข่าวลือว่า ผมจะมาพูดถึงเรื่องการใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาตรา 44 ยุบสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งขอย้ำอีกครั้งว่าไม่เป็นความจริง ผมไม่คิดจะปรับโครงสร้างใหญ่ๆ อะไรในตอนนี้ เพราะไม่เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาชาติ" รมว.ศธ.กล่าว
นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา (เลขาฯ สกศ.) ในฐานะโฆษก ศธ. กล่าวภายหลังการประชุมองค์กรหลักของ ศธ.ว่า นพ.ธีระเกียรติได้กล่าวในที่ประชุมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พูดถึงกรมการฝึกหัดครูที่ ศธ.เคยมีในอดีต เป็นสิ่งที่ดี จะทำให้ได้ครูที่มีคุณภาพ จึงอยากให้มีการนำเรื่องกรมการฝึกหัดครูกลับมาทบทวน หรือมีการตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการผลิตครูได้หรือไม่ ซึ่งทาง รมว.ศธ.ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ร่วมกันพิจารณา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ศธ.ก็มีหลักสูตรที่คล้ายกับหลักสูตรฝึกหัดครู คือหลักสูตรการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยโพสต์ วันที่ 1 มีนาคม 2560