สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) โดยผู้บริหารบอกว่าผลทดสอบขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต เป็นครั้งแรกที่จัดสอบข้อเขียนหรืออัตนัย วิชาภาษาไทย กับนักเรียนชั้น ป.6 ด้วยภาษาไทยมาตรฐาน (ภาษาไทยกลาง)
พบว่านักเรียนเขียนและใช้คำผิดความหมายค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการสะกดค คำควบกล้ำ การใช้การันต์ เช่น แทรก เขียนผิดเป็น แซก นะคะเขียนผิดเป็น นะค่ะ ซื่อสัตย์ เขียนผิดเป็น ซื่อสัตว์ ภาพยนตร์ เขียนผิดเป็น ภาพยนต์
รวมถึงยังมีการใช้ภาษาวัยรุ่น คำสแลงในการตอบข้อสอบด้วย เช่น ชิลๆ แซ่บเว่อร์ เป็นต้น
ดังนั้น จึงขอให้กรรมการที่ตรวจข้อสอบรวบรวมคำที่เด็กมักเขียนผิดหรือใช้ผิดความหมาย เพื่อส่งให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน และสร้างสำนึกให้แก่เด็กในการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง เชื่อว่าจะได้ประโยชน์อย่างมาก และจะทำให้เด็กใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องมากขึ้น (มติชน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 หน้า 17)
ครูก็ไม่ต่างมากนักจากนักเรียน
ครูที่ไม่ได้สอนภาษาไทยในโรงเรียนทั่วประเทศ ไม่ต่างกันมากนักกับนักเรียน จึงไม่ควรโทษแต่เด็ก
ภาษาไทยมาตรฐาน (ภาษาไทยกลาง) เป็นภาษาราชการของคนชั้นนำในสังคมเมือง มักใช้คำมีศักดิ์สูง และส่วนมากเป็นคำฟุ่มเฟือย เยิ่นเย้อยืดยาด (เป็นพวกลูกกรุง) แล้วมีทัศนะดูถูกเหยียดหยามคำพื้นๆ ที่เข้าใจง่ายๆ ของสังคมบ้านๆ (อย่างพวกลูกทุ่งหมอลำ) ตรงนี้นักเรียนในชนบทเสียเปรียบนักเรียนในเมือง
การเขียนทุกประเภทจะดีหรือด้อยอยู่ที่ประสบการณ์การอ่านของแต่ละคนด้วย ผมเคยเป็นบรรณาธิการต้องตรวจบทความและข้อเขียน ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองของครูบาอาจารย์จำนวนไม่น้อยที่ส่งไปให้พิจารณาลงพิมพ์
จำนวนมากเขียนดีไม่มีที่ติ จึงลงพิมพ์ แต่จำนวนไม่น้อยต้องแก้ไข เพราะใช้ภาษาทำนองเดียวกับผลทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานที่เป็นข่าวยกมานั่นแหละ แต่มีจำนวนหนึ่งใช้การไม่ได้เลย ต้องทิ้งไป
ที่เล่ามานี้ เพื่อบอกว่าครูจำนวนไม่น้อยไม่อ่านหนังสือดีมีคุณภาพ เขียนหนังสือตกๆ หล่นๆ ชุ่ยๆ แต่ชอบด่าเด็ก เข้าทำนอง “ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง”
[ก่อนเครื่องคอมฯ แพร่หลายเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ต้นฉบับส่วนหนึ่งพิมพ์ดีด แต่ส่วนมากเขียนด้วยลายมือ ผมต้องตรวจลายมือของครูบาอาจารย์ ทั้งระดับประถม, มัธยม, จนถึงอุดม บางทีจะอ้วก เพราะชุ่ยโคตรๆ จนผมอดไม่ได้ที่ต้องบริภาษในใจว่าครูพวกนี้แหละที่ชอบแสดงตนเป็นคนดี แล้วดุด่าว่ากล่าวเยาวชนนักเรียนไทยไม่อ่านหนังสือ ไม่รักความเป็นไทย ไม่รักภาษาไทย แต่ครูบาอาจารย์ไม่เคยเข้มงวดตัวเอง]
ผมเคยขนหนังสือเล่มที่เพิ่งพิมพ์ใหม่ๆ นับร้อยนับพันเล่มไปใส่ห้องสมุดโรงเรียนแห่งหนึ่งในชนบท แล้วพยายามติดตามสอบถามว่าต้องการหนังสือทันสมัยแนวไหนอีกที่นักเรียนชอบ จะหาไปให้ แต่ไม่เคยได้รับคำอธิบายหรือคำปรึกษาหารือใดๆ ราวกับคนหาหนังสือใหม่ๆ ไปให้ได้สร้างภาระเพิ่มให้ครู จนทุกวันนี้รู้สึกตายด้านไปเองกับพฤติกรรมของครูโรงเรียนนั้น แล้วไม่ได้หวังอะไรอีก
หลักสูตรการเรียนการสอนภาษาไทยและวรรณกรรมไทย (ก็วรรณคดีนั่นแหละ) ควรปรับเปลี่ยนนานแล้ว เพราะคร่ำครึล้าสมัยเต็มที
ครูผู้สอนต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติอย่างสำคัญ โดยเฉพาะเลิกเป็นผู้พิทักษ์ความถูกต้องว่ามีอยู่ที่ตนพวกเดียว แล้วเลิกทำภาษาไทยเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์
เพราะแท้จริงแล้วภาษาไทยได้รับการยอมรับกว้างขวางมาแต่ดั้งเดิมว่าเป็นภาษากลางทางการสื่อสารเพื่อการค้าภายในภูมิภาคนานนับพันๆ ปีมาแล้ว
---------------------------
ผู้เขียน สุจิตต์ วงษ์เทศ
ที่มา คอลัมน์ สุจิตต์ วงษ์เทศ มติชนรายวัน
เผยแพร่ 27 ก.พ. 60
ขอบคุณที่มาเนื้อหาจาก มติชนออนไลน์ วันที่: 27 ก.พ. 60 เวลา: 17:17 น.