โอนคดีสกสค.ให้"ดีเอสไอ"เชือด ทั้งตั๋วสัญญาใช้เงินปลอม2.5พันล./สร้างบ้านพักครูเชื่อสะสางได้เร็ว
"รมว.ศธ." เผยบอร์ด สกสค.-องค์การค้าฯ มีมติให้ "พิษณุ" นั่งควบ ผอ.องค์การค้าฯ-เลขาฯ สกสค. พร้อมโอนคดีทุจริตตั๋วสัญญาใช้เงิน บ.บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ดฯ 2,500 ล้าน อาคารบ้านพักครูที่เชียงใหม่ ส่งต่อให้ดีเอสไอดำเนินการ เชื่อสะสางจบเร็วทั้ง 3 คดี พร้อมไฟเขียวออกตั๋วครูชั่วคราวให้ผู้ที่ไม่ได้จบคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ หวังแก้ปัญหาขาดครูสาขาขาดแคลน โดยให้สถาบันการศึกษารับรองความเชี่ยวชาญและเสนอรายชื่อ
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และการประชุมคณะกรรมการองค์การค้าของ สกสค. ที่ประชุมมีมติตั้งนายพิษณุ ตุลสุข รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (รองปลัด ศธ.) เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ ผอ.องค์การค้าของ สกสค. หลังจากที่นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาฯ กอศ.) ได้ยื่นหนังสือลาออก เพื่อให้การทำงานไม่เกิดสุญญากาศ
รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุม สกสค.ยังมีมติให้โอนคดีทุจริตต่างๆ ของ สกสค. เช่น ซื้อตั๋วสัญญากับบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด จำนวน 2,500 ล้านบาท กรณีลงทุนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี และกรณีทุจริตการก่อสร้างอาคารพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ จำนวน 360 ล้านบาท เป็นต้น ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นผู้ดำเนินการ เพราะเรื่องนี้มีความซับซ้อนและสังคมกำลังจับตามอง และหากดีเอสไอเข้ามาช่วยจะทำให้การแก้ปัญหาเรื่องนี้เสร็จสิ้นโดยเร็วมากขึ้น
สำหรับเรื่องที่องค์การค้าของ สกสค.ค้างจ่ายเงินให้แก่อดีตและพนักงานองค์การค้าของ สกสค. จำนวนเงิน 1,200 ล้านบาทนั้น ขณะนี้องค์การค้า สกสค.ไม่ได้นิ่งนอนใจ และกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันการเงิน แต่ต้องเข้าใจว่าองค์การค้าของ สกสค.มีภาระหนี้สินจำนวนมาก มีความเสี่ยงสูง ทำให้สถาบันการเงินกังวลที่จะปล่อยเงินกู้ แต่ขอยืนยันว่าองค์การค้าของ สกสค.จะจ่ายเงินค้างให้แก่ทุกคนอย่างแน่นอน เพราะถ้าหากยังประวิงเวลาไม่ยอมจ่ายเงิน องค์การค้าของ สกสค.ก็จะต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมาก
รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภาได้มีมติให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาสามารถออกใบอนุญาตประกอบการสอนชั่วคราว ให้แก่ผู้ที่ไม่ได้จบคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ แต่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น ผู้ที่จบคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ เป็นต้น เพื่อเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้สามารถสอนในสถานศึกษาได้ ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้จะสามารถช่วยแก้ปัญหาขาดครูในสาขาขาดแคลนได้ ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ขาดแคลนครูสายวิชาชีพอยู่ประมาณ 18,000 คน โดยขั้นตอนการดำเนินการจะให้สถานศึกษาเป็นผู้คัดเลือกและรับรองคุณสมบัติความเชี่ยวชาญ ความรู้ความสามารถในเบื้องต้น จากนั้นให้เสนอรายชื่อมายังคุรุสภาเพื่อพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบการสอนชั่วคราวต่อไป และในส่วนการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูให้แก่กลุ่มคนเหล่านี้นั้น คุรุสภาก็มีช่องทางการปลดล็อกในส่วนนี้ให้อยู่แล้ว เช่น การเรียนในหลักสูตรประกาศนียบัณฑิต (ป.บัณฑิต) หรือการอบรมวิชาชีพครู เป็นต้น อีกทั้งจะต้องมีการหารือเพื่อหาแนวทางให้เหมาะสมเพิ่มเติมต่อไป.
ขอบคุณที่มาจาก ไทยโพสต์ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560