กรุงเทพฯ ประเทศไทย 15 กุมภาพันธ์ 2560 – เมื่อพูดถึงการทำงานคนไทยยังคงมีความสุขในการทำงานอยู่เสมอ และมีความคาดหวังในเชิงบวกต่ออนาคตในการทำงานด้วย กล่าวคือพนักงานส่วนมากเชื่อมั่นว่าชีวิตการงานของตนเองต้องดีกว่าเดิม (#icanbebetter) และพนักงานอีกไม่น้อยเลือกที่จะเปลี่ยนงานมากกว่าทนอยู่กับบริษัทเดิมถ้าพวกเขาไม่มีความสุขในการทำงาน
รายงานดัชนีความสุขของพนักงานประจำปี 2016 ที่จัดทำโดยบริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคนทำงานอีกเจ็ดประเทศในเอเชีย คนไทยมีความสุขในการทำงานเป็นอันดับที่สาม โดยการสำรวจนี้จัดทำในฮ่องกง เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และไทย
นางสาวนพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า รายงานดัชนีความสุขดังกล่าวให้ข้อมูลแก่องค์กรธุรกิจต่าง ๆ เกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลให้พนักงานลาออกหรือยังคงอยู่ในองค์กร ไปจนถึงนโยบายและการพัฒนาระบบต่าง ๆ ที่องค์กรสามารถกำหนดขึ้นเพื่อสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมการทำงานที่ดียิ่งขึ้น รายงานดังกล่าวยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณลักษณะที่เกี่ยวกับงานหรือปัจจัยที่มีผลต่อการเพิ่มหรือลดความสุขในการทำงานอีกด้วย ผู้ตอบแบบสอบถามประกอบด้วยพนักงานระดับต่าง ๆ ตั้งแต่พนักงานที่เป็นนักศึกษาจบใหม่ยังไม่มีประสบการณ์ในการทำงานไปจนถึงระดับหัวหน้างาน ระดับผู้จัดการและผู้บริหารระดับสูงจากทั่วประเทศ โดยแต่ละคนมีอายุงาน ความเชี่ยวชาญและอยู่ในอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน
คะแนนความสุขเฉลี่ยจากผู้ตอบแบบสอบถามคนไทยทั้ง 1,957 คนอยู่ที่ 5.74 (จาก 11 ระดับคะแนน ) ซึ่งทำให้ประเทศไทยเป็นอันดับที่สามของประเทศที่คนทำงานมีความสุขกับการทำงาน รองจากฟิลิปปินส์ (6.25) และอินโดนีเซีย (6.16) ทั้งนี้ประเทศไทยมีดัชนีความสุขจากการทำงานเป็นอันดับที่สาม ซึ่งวัดจากจำนวนคนตอบแบบสอบถามที่มีทัศนะคติเป็นกลางไปจนถึงมีความสุขกับงาน พบว่าทุก ๆ 100 คน จะมี 61 คนมีทัศนะคติเป็นบวกกับงาน ตามหลังอินโดนีเซียที่ 71 และฟิลิปปินส์เป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มนี้ที่ 73 นอกจากนี้การสำรวจนี้ยังสอบถามถึงมุมมองของผู้ตอบแบบสอบที่มีต่อความสุขในการทำงานในอีก 6 เดือนข้างหน้า พบว่าประเทศไทยอยู่ในระดับกลาง ๆ ที่ระดับ 5.66 เมื่อเทียบกับอีกเจ็ดประเทศ โดยอินโดนีเซียมีดัชนีความสุขระดับสูงสุดในกลุ่มนี้ที่คะแนน 6.58 ตามมาด้วยเวียดนามและฟิลิปปินส์ที่ 6.30 และ 6.18 ตามลำดับ รั้งท้ายด้วยสิงคโปร์ที่ 4.93 และยังเป็นประเทศเดียวที่ได้คะแนนต่ำกว่า 5.00 ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐาน
การสำรวจนี้ยังศึกษาข้อมูลภาพรวมของพนักงานที่มีความสุขที่สุดในประเทศไทย จากผลสำรวจเชิงลึกพบว่า พนักงานที่มีความพึงพอใจต่องานมากที่สุดคือกลุ่มที่ทำงานปัจจุบันมาประมาณ 3-5 ปี โดยเป็นกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญในงานบริหาร งานท่องเที่ยว งานโรงแรมงานอาหารและเครื่องดื่ม และงานธุรการงานทรัพยากรบุคคล และทำงานอยู่ในธุรกิจก่อสร้าง/สถาปัตยกรรม ธุรกิจโรงแรม บริการ/จัดเลี้ยงและธุรกิจการแพทย์/เภสัชกรรม โดยผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นระดับผู้บริหารระดับสูงขององค์กร อาทิ เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงและผู้อำนวยการ เป็นผู้มีความสุขที่สุด
ในทางตรงกันข้ามพนักงานที่ให้คะแนนความสุขต่ำที่สุดเป็นพนักงานที่เพิ่งเริ่มงาน (ส่วนใหญ่ทำงานในองค์กรมาน้อยกว่า 1 ปี) ในสายงานขนส่ง งานไอทีและงานการตลาดและประชาสัมพันธ์ ในธุรกิจประกันภัยธุรกิจสารเคมี/พลาสติก/กระดาษ/ปิโตรเคมีและธุรกิจยานยนต์ โดยตำแหน่งงานที่มีความสุขน้อยที่สุดคือหัวหน้างาน เมื่อพิจารณาเป็นรายภูมิภาคพบว่าพนักงานที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือระบุว่ามีความพึงพอใจต่อการทำงานน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับพนักงานในภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศ
และจากการสำรวจปัจจัยที่ทำให้พนักงานมีความสุขในที่ทำงาน พบว่าคนไทยให้ความสำคัญกับสถานที่ทำงานที่เดินทางสะดวกและทำงานที่ไหนก็ได้ที่ตนเองต้องการ ความมีชื่อเสียงขององค์กร และความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน โดยปัจจัยเหล่านี้เป็นผลมาจากสภาพการจราจรในเมืองใหญ่ ๆ ของประเทศและลักษณะการสร้างความสัมพันธ์ในสังคมของคนไทย
ขณะที่ปัจจัยหลักที่ทำให้พนักงานไม่มีความสุขจนถึงขั้นลาออกจากบริษัทคือ การมีผู้นำที่ขาดคุณสมบัติในการสร้างแรงบันดาลใจ ไม่ได้รับการส่งเสริมให้เติบโตในหน้าที่การงาน และไม่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพ แม้ปัจจัยเหล่านี้อาจไม่ใช่สิ่งที่ทำให้พนักงานมีความสุขแต่อาจมีผลต่อการตัดสินใจของพนักงานว่าจะอยู่ด้วยความภักดีต่อองค์กรหรือจะไปแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ
34% ของพนักงานที่ตอบแบบสอบถามเลือกมองหาโอกาสที่ดีกว่าหรือหางานใหม่เพื่อเพิ่มความสุขในการทำงาน อีก 19% เลือกทำงานในตำแหน่งเดิมต่อไปตราบใดที่พวกเขายังได้รับการขึ้นเงินเดือน ในขณะที่ 8% บอกว่าพวกเขาจะมีความสุขมากกว่านี้ถ้าได้รับการยอมรับในความสามารถหรือได้เลื่อนตำแหน่ง
“บริษัทสามารถใช้ข้อมูลจากผลสำรวจดังกล่าวเพื่อใช้พัฒนาและเพิ่มระดับความสุขให้แก่พนักงานในองค์กรพนักงานที่มีความพึงพอใจและมีความผูกพันกับองค์กร จะทำให้องค์กรเป็นองค์กรซึ่งตรงกับสิ่งที่เรานำเสนอมาโดยตลอดคือ “งานที่ดีกว่าคืองานที่มีความสุข” จากผลสำรวจของจ๊อบส์ ดีบี เราตั้งใจเผยแพร่ข้อมูลนี้ไปยังองค์กร หน่วยงานและบริษัทต่าง ๆ ให้ทราบถึงปัจจัยที่สร้างความพึงพอใจให้แก่พนักงานและทำอย่างไรองค์กรถึงจะรักษาความพึงพอใจของพนักงานเอาไว้ได้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารายงานฉบับนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจพนักงานและระดับความพึงพอใจของพนักงานมากยิ่งขึ้น เพื่อให้พวกเขาสามารถหาแนวทางในการพัฒนาพนักงาน และในท้ายที่สุดจะส่งผลดีต่อธุรกิจของพวกเขาอีกด้วย” นางสาวนพวรรณ กล่าวเสริม
จ๊อบส์ดีบี เชื่อว่าในโลกที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน มีโอกาสและความเป็นไปได้อยู่มากมาย: การเริ่มต้นใหม่ อาชีพใหม่ การต้อนรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของอีกหลายสิ่งที่เราได้ช่วยผู้คนค้นหา
ในฐานะผู้นำด้านเว็บไซต์หางาน ที่มีตำแหน่งงานสำคัญในประเทศฮ่องกง อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย เราเป็นเว็บไซต์ในดวงใจของผู้หางานในเอเชีย ด้วยทีมงานกว่า 1,000 คนที่มีความสามารถ และข้อมูลเชิงลึกที่เรามี ตลอดจนเทคโนโลยีของเรา จะช่วยให้ผู้หางานพบกับโอกาสที่ดีที่สุดซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้ประกอบการ
เราสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าของเรา ล่าสุดเราได้เปิดตัวฟังก์ชั่นการค้นหาด้วยเงิน เดือนที่ให้ผู้หางานค้นหางานที่ตรงกับเงินช่วงเงินเดือนที่คาดหวังได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้หางานเตรียมความพร้อมในการต่อรองเงินเดือนที่ต้องการได้ในระหว่างการสัมภาษณ์งานเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนตามที่ต้องการ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะช่วยประหยัดเวลาให้กับทั้งผู้ประกอบการและผู้หางาน