“หมออุดม” เผยประชาชนไม่แคร์ตั้งกระทรวงใหม่ เชื่อแยกสกอ.ทำให้มหาวิทยาลัยดีขึ้น ชี้ตั้งกระทรวงอุดมศึกษา ต้องตอบโจทย์ประเทศได้ และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
วันนี้ (13 ก.พ.) ศ.นพ.อุดม คชินทร ประธานคณะทำงานเตรียมความพร้อมการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา กล่าวว่า การจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา จะต้องคำนึงถึงส่วนรวมเป็นสำคัญ คือ ตั้งขึ้นมาแล้วสามารถตอบโจทย์ของประเทศได้ โดยการทำงานจะต้องสอดคล้องกับแผนต่างๆ เช่น แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ20ปี (พ.ศ.2560-2579) และ แผนอุดมศึกษาระยะยาว15ปี เป็นต้น นอกจากนี้จะต้องเชื่อมโยงกับสาธารณะ ทั้งชุมชน ภาคสังคม องค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อให้เข้ามาช่วยกำกับ และตรวจสอบความโปร่งใสในการทำงาน รวมถึงต้องช่วยแก้ไขปัญหาสังคมด้วย
“ ที่ผ่านมามีคำถามว่า เคยถามประชาชนหรือไม่ว่าเห็นด้วยกับการแยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ออกจากกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)มาตั้งเป็นกระทรวงอุดมศึกษาหรือไม่ ซึ่งทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)เคยถามประชาชนไปแล้ว ทราบว่าประชาชนไม่ได้แคร์เท่าไหร่กับการที่อุดมศึกษาจะแยกจาก ศธ.ขอเพียงแยกออกมาแล้วจะทำให้มหาวิทยาลัยดีขึ้น ตอบโจทย์ประเทศได้ ที่สำคัญสามารถทำให้คนเจริญ และประเทศสามารถพัฒนาไปข้างหน้าได้”ศ.นพ.อุดม กล่าว
ด้าน ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ประธานคณะอนุกรรมาธิการการอุดมศึกษา สนช.กล่าวว่า สนช.ได้ทำรายงานการศึกษาเรื่องการปฎิรูปการศึกษา โดยรับฟังความคิดเห็นใน 4 ภูมิภาคจากผู้ที่เกี่ยวข้องวงการการศึกษา เช่น ครู อาจารย์ทุกสังกัด องค์กรปกครอง และประชาชน เป็นต้น ซึ่งในส่วนของอุดมศึกษานั้น ไม่ได้ถามเกี่ยวกับการตั้งกระทรวงอุดมศึกษาโดยตรง แต่สอบถามประเด็นอุดมศึกษาควรที่จะแยกออกจาก ศธ. หรือไม่ แยกออกมาแล้วจะดีอย่างไร ซึ่งคนส่วนใหญ่เชื่อว่าถ้าแยกอุดมศึกษาออกมาจาก ศธ. แล้วจะทำให้การบริหารงานของอุดมศึกษาและ ศธ. ดีขึ้น คือ กระทรวงจะเล็กลงทำให้การทำงานคล่องตัวขึ้นและคุณภาพการศึกษาทุกระดับก็จะดีขึ้นด้วย ประชาชนต้องการให้สถาบันการศึกษาสามารถตอบโจทย์ประเทศได้ และทำให้ประเทศพัฒนา
ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2560