มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอเชิญเข้าร่วมงานสัมมนาวิชาการ เรื่อง การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ครั้งที่ 3 : การเปลี่ยนแปลงสู่มหาวิทยาลัย 4.0 สำหรับอาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับการเรียนการสอน เพื่อให้การเรียนการสอนมีความน่าสนใจและง่ายขึ้นในยุคศตวรรษที่ 21 ในวันที่ 9-11 มีนาคม 2560
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นเป้าหมายหลักของการจัดการศึกษา โลกปัจจุบันก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ที่ซับซ้อน มีพลวัต (dynamics) สูง และเต็มไปด้วยความเจริญก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การจัดการศึกษาเพื่อผลิตบัณฑิตให้เป็นพลเมืองที่ดี มีคุณธรรมจริยธรรม มีคุณภาพ มีศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศ และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขในศตวรรษที่ 21 ก้าวไปพร้อมกับการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศไทยไปสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้สยนวัตกรรมหรือ Value-based economy หรือที่เรียกกันว่าประเทศไทย 4.0 จึงมีความสำคัญและจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนก็คือ ครู อาจารย์ นักวิจัยและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งการจัดการเรียนการสอนของไทยเราโดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาต้องปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนมาสู่การศึกษายุค 4.0 จากการมุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตบนฐานความต้องการของมหาวิทยาลัยมาเป็นการมุ่งเน้นผลลัพธ์ของบัณฑิตที่ตลาดและสังคมโลกต้องการ เปลี่ยนการถ่ายทอดความรู้ในสาขาวิชา มาเป็นการส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตลอดชีวิต ผ่านการฝึกฝนให้เกิดทักษะการเรียนรู้ โดยใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้ในมิติที่หลากหลาย การบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลและการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อการพัฒนาผู้เรียนยุคใหม่ (Next generation)แนวคิดการเรียนการสอนปัจจุบันที่อาศัยพื้นฐานของศตวรรษที่ 21 นั้นควรต้องเพิ่มระดับให้มุ่งเน้นที่การคิดเชิงนวัตกรรมและการคิดอย่างมีวิจารณญาณ การผลิตและสร้างกำลังคนให้สอดคล้องกับทิศทางของตลาดโลกและสามารถแข่งขันได้ เช่น การออกแบบการเรียนการสอนแบบกลับด้าน (Flipped learning)การเรียนรู้แบบภควันตภาค (Ubiquitous learning) การเรียนรู้แบบร่วมมือโดยใช้เทคโนโลยีคลาวด์(Cloud learning) การออกแบบการเรียนการสอนที่เน้นผลการเรียนรู้ (Outcome-based course design) การจัดการการกระตุ้นความสนใจและสร้างการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนด้วยเทคโนโลยี(Student engagement with technology) การพัฒนาทักษะการคิดรวมถึง soft skills อื่น ๆ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งในและนอกชั้นเรียน รวมถึงการใช้การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่หลากลายและเน้นการประเมินเพื่อพัฒนาผู้เรียน เป็นต้น
กลไกสำคัญอันหนึ่งที่จะขับเคลื่อนกระบวนการเรียนการสอนที่มีคุณภาพก็คือ การวิจัย (Scholarship of Teaching and Learning: SoTL) ซึ่งไม่ใช่เรื่องไกลตัวของอาจารย์ กระบวนการวิจัยเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้สามารถทำเป็นงานประจำต่อเนื่องตลอดเวลา การวิจัยในชั้นเรียนสามารถพัฒนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อผู้เรียน เป็นนวัตกรรมทางการศึกษา รวมถึงก่อให้เกิดการสร้างการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์และสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืนตลอดชีวิต การรวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคณาจารย์ผู้สอนในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นและผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ปัจจุบัน สถาบันอุดมศึกษาได้ให้ความสนใจด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยมีนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมผลักดันให้เกิดความตระหนักและความเข้าใจในการทำวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ด้วยความสำคัญของกระบวนการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการศึกษาที่ตอบสนองต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสังคมไทยและสังคมโลก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อิสรา ก้านจักร ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสำนักนวัตกรรมการเรียนการสอน ร่วมกับ สถาบันคลังสมองของชาติ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้มหาวิทยาลัยมหิดล และ สถาบันการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีได้จัดการสัมมนาวิชาการเรื่อง การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนครั้งที่ 3 ภายใต้ theme หลัก คือ การเปลี่ยนแปลงสู่มหาวิทยาลัย 4.0 ขึ้น เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้อาจารย์ นักวิจัย บุคลากรทางการศึกษา และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาที่จะประกอบวิชาชีพอาจารย์ในระดับอุดมศึกษา ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และตระหนักถึงการวิจัยเพื่อพัฒนาการศึกษา และสามารถประยุกต์ใช้นวัตกรรมให้ก่อเกิดประโยชน์ด้านการศึกษา และรองรับการเปลี่ยนแปลงการศึกษาแบบองค์รวมในศตวรรษที่ 21
สำหรับการสัมมนาครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ได้รับความสนใจมาก มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน (จำกัดด้วยห้องประชุม) และต้องการให้จัดสัมมนาแบบนี้ขึ้นอีกโดยขอให้เพิ่มส่วนทีเป็นการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ(Workshop)มีสาขาที่หลากหลาย ไม่จำกัดที่สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น ทำให้การสัมมนาในครั้งนี้ ประกอบด้วยการบรรยายโดย keynote speaker และ speakers ที่เป็นชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยมีหัวข้อย่อย ที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยยุค 4.0 (University 4.0), เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ (Digital technology for learning) , อนาคตสำหรับการเรียนรู้ (Future of learning in higher education)การนำเสนอกรณีตัวอย่างการปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในระดับอุดมศึกษา (Show Case: Digital technology in Higher education)การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับศาสตร์การสอนและเทคโนโลยี (Pedagogies & Technology: Flipped learning, Ubiquitous learning, Cloud learning and Outcome-based tracking) รวมทั้ง SoTL:การสร้างงานวิจัยจากชั้นเรียนสู่การตีพิมพ์จากมุมมองและประสบการณ์ของบรรณาธิการวารสารระดับนานาชาติ และการสรุปองค์ความรู้สู่การปฏิบัติในบริบทของผู้เข้าร่วมสัมมนา
โดยกำหนดจัดขึ้น ในระหว่างวันที่ 9-11 มีนาคม 2560 ณ พูลแมนขอนแก่น ราชา ออคิด และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ท่านที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สำนักนวัตกรรมการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยขอนแก่น อาคารศูนย์สารสนเทศ (สำนักหอสมุด) 123 หมู่ 16 ถ.มิตรภาพ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น 40002
โทรศัพท์ 043-202899 เว็บไซต์ https://sotl.kku.ac.th และสมัครเข้าร่วมการสัมมนาออนไลน์ได้ที่ https://sotl.kku.ac.th/reg/