นักวิชาการเปิดใจไม่ได้มีอคติ รมว.ศึกษาธิการ
จากกรณีที่ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาวิจารณ์นโยบายการศึกษาของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) นั้น ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวว่า หากการวิจารณ์ของตนในฐานะนักวิชาการตัวเล็กๆ ทำให้ รมว.ศธ.โกรธ ตนต้องขอโทษด้วย ยืนยันว่าไม่ได้มีอคติกับ นพ.ธีระเกียรติ ตนวิจารณ์การทำงาน รมว.ศธ.ทุกคน ไม่เลือกปฏิบัติ และสิ่งที่วิจารณ์ก็มีเหตุผลที่มาที่ไป ซึ่งเห็นด้วยที่นำหลักการการศึกษาของประเทศอังกฤษมาใช้ แต่อยากให้ปรับให้เหมาะสมกับสังคมไทยและอยากเห็นความยั่งยืนของนโยบาย เช่น หลักการสอนภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งโครงสร้างการเรียนการสอนนั้นไม่ถูกจริตกับครูและนักเรียนไทย เกรงว่าจะสอนเฉพาะตอนที่ นพ.ธีระเกียรติเป็นรัฐมนตรี เมื่อหมดวาระแล้วก็เลิก รวมถึงการให้สอนวิชาภูมิศาสตร์ โดยที่ไม่มีการปรับหลักสูตรในปัจจุบัน จะเป็นการเพิ่มภาระให้กับครูสังคม เป็นต้น
“การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา เรานำแนวคิดจากสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก โดยไม่ได้ศึกษาผลดีผลเสีย เช่น เขตพื้นที่การศึกษา การมีสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา รวมทั้งการตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งก็สร้างปัญหาอยู่ในขณะนี้ หากจะยึดแนวคิดจากประเทศอังกฤษ ผมก็พร้อมให้กำลังใจ และอยากให้ปฏิรูปการศึกษาประสบผลสำเร็จ แม้ นพ.ธีระเกียรติจะฟ้อง ผมก็ยินดี หากฟ้องผมแล้วทำให้การปฏิรูปการศึกษากระเพื่อมครั้งใหญ่” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว.
ขอบคุณที่มาจาก ไทยรัฐ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560
"สมพงษ์"ขอโทษ ยันไม่อคติ"หมอธี" หวังดีการศึกษา
"สมพงษ์" ขอโทษ ยืนยันเป็นแค่การวิจารณ์ของนักวิชาการตัวเล็กๆ ไม่ได้อคติ "หมอธี" เผยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ รมว.ศธ.ทุกคน แม้จะถูกฟ้องก็ยินดีหากช่วยให้การปฏิรูปการศึกษาเกิดการกระเพื่อมครั้งใหญ่
นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่ตนออกมาวิจารณ์นโยบายการศึกษาของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ว่า หากการวิจารณ์ของตนในฐานะนักวิชาการตัวเล็กๆ ทำให้ รมว.ศธ.โกรธ ตนก็ต้องขอโทษด้วย ซึ่งตนยืนยันว่าไม่ได้มีอคติกับ นพ.ธีระเกียรติ ตนวิจารณ์การทำงานของ รมว.ศธ.ทุกคน ไม่เลือกปฏิบัติ และสิ่งที่วิจารณ์นั้นก็มีเหตุผลที่มาที่ไป ซึ่งยืนยันว่าเห็นด้วยที่นำหลักการการศึกษาของประเทศอังกฤษมาใช้ แต่อยากให้ปรับให้เหมาะสมกับสังคมไทยและอยากเห็นความยั่งยืนของนโยบาย เช่น หลักการสอนภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งโครงสร้างการเรียนการสอนนั้นไม่ถูกจริตกับครูและนักเรียนไทย ซึ่งตนเกรงว่าจะสอนเฉพาะตอนที่ นพ.ธีระเกียรติเป็นรัฐมนตรี เมื่อหมดวาระแล้วก็เลิกสอนแนวนี้ รวมถึงการให้สอนวิชาภูมิศาสตร์โดยที่ไม่มีการปรับหลักสูตรในปัจจุบัน ก็จะเป็นการเพิ่มภาระให้กับครูสังคม เมื่อ นพ.ธีระเกียรติลุกจากเก้าอี้ รมว.ศธ. นโยบายนี้ก็อาจเลิกไปด้วยเช่นกัน เป็นต้น
"จากการปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ผ่านมา เรานำแนวคิดการจัดการศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก โดยไม่ได้ศึกษาถึงผลดี-ผลเสีย เช่น เขตพื้นที่การศึกษา การมีสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. รวมทั้งการตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ หรือ สทศ. ซึ่งก็สร้างปัญหาอยู่ในขณะนี้ ดังนั้นหากจะยึดแนวคิดจากประเทศอังกฤษ ผมก็พร้อมให้กำลังใจ และอยากให้ปฏิรูปการศึกษาประสบผลสำเร็จ แต่อยากให้ทำอย่างรอบคอบ เหมาะสมกับสังคมไทย และต้องทำให้เกิดขึ้นได้จริง แม้ นพ.ธีระเกียรติจะฟ้อง ผมก็ยินดี หากฟ้องผมแล้วทำให้การปฏิรูปการศึกษาเกิดการกระเพื่อมครั้งใหญ่" อาจารย์ครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว.
ขอบคุณที่มาจาก ไทยโพสต์ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560