ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปอะไร ?
ดร. วิชัย พยัคฆโส
payackso@gmail.com
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ได้กำหนดไว้ให้รัฐบาลต้องจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนอย่างน้อย 12 ปี น่าจะส่งผลต่อนโยบายการศึกษาแห่งชาติ แต่ดูเหมือนมีเสียงวิพากย์กันว่าจะมีการปิดกั้นการปฏิรูปการศึกษา จึงไม่ทราบว่าเหตุนั้นคืออะไร
การพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศไทย 4.0 ตามที่รัฐบาลปักธงไว้ในอีก 20 ปี นั้น อาจเป็นไปไม่ได้เลย หากไม่เน้นให้ความสำคัญกับ “คน” ที่จะต้องหล่อหลอมสอนให้เป็น “คน 4.0 ” เช่นเดียวกัน ต้องยอมรับว่า พรบ. ปฏิรูปการศึกษา 2542 ไม่ประสบผลสำเร็จทั้งในระบบโครงสร้างและผลสัมฤทธิ์ ของคุณภาพการศึกษา จนประเทศเพื่อนบ้านเขาแซงหน้าไปหลายประเทศแล้ว
การปฏิรูปการศึกษาคงต้องปฏิรูปกันทั้งระบบ หลายทิศทางและหลายปัจจัยแต่ต้อง บูรณาการให้สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาเป็นเป้าหมายสุดท้าย หรือ Outcome ที่จะเกิดขึ้น ทั้งโครงสร้าง การบริหารจัดการ การพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาครู การพัฒนาวิธีการจัดการเรียนการสอนและการประเมินผล แต่ละเรื่องล้วนแล้วแต่ต้องมีมาตรการสนับสนุนอย่างเป็นระบบที่ต้องพัฒนาต่อเนื่องทั้งสิ้น
ดูเหมือนว่าด้านโครงสร้างจะแยกกระทรวงอุดมศึกษาออกไป และแท่งต่างๆ ที่มีอยู่ ในปัจจุบันจะถูกหล่อหลอมใหม่ โดยบูรณาการให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละระดับ เช่น การศึกษา ขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา แต่เมื่อแยกแล้วควรต้องบริหารให้เกิดบูรณาการ ให้มี Outcome ไปในทิศทางเดียวกัน โดยใช้แผนการศึกษาแห่งชาติของสภาการศึกษาฯ เป็น Master Plan ที่ชัดเจน
หากไปพิจารณาการศึกษาของประเทศที่พัฒนาแล้วจะพบว่า จำนวนครูกับสัดส่วน ของนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่ระหว่างครู 1 คน กับนักเรียน 12 – 20 คน เท่านั้น และต่างใช้วิธีการสอนแบบ Aclive leaning โดยใช้เทคนิคการสอนในรูปแบบต่างๆ ตาม Leaning Outcome ที่กำหนด คงมิใช่ปรับหลักสูตรโดยสอดใส่วิชาเข้าไปมากๆ แต่เพียงอย่างเดียว เหมือนบ้านเราที่มีเสียงบ่นกันว่าเรียนมาก
ยัดเยียดเด็กมากเกินไป จนนายกรัฐมนตรีให้ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้กันอยู่ขณะนี้
คุณภาพหรือผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอยู่ที่วิธีคิดว่าต้องการให้เด็กไทยแต่ละระดับเขาได้เรียนรู้ได้ความรู้อะไรบ้าง เพื่อการพัฒนาประเทศตามหลักคิดของความต้องการในศตวรรษที่ 21 เช่น
ด้านความสามารถ ต้องการทักษะเชิงนวัตกรรม ทักษะความคิดเชิงสร้างสรร ความคิดเชิงวิเคราะห์เป็นสมรรถนะเชิงประจักษ์
ด้านความรู้เสริม ต้องการภาษาต่างประเทศ และไอซีที
ด้านทักษะทางสังคม ต้องการคุณธรรมจริยธรรม ความรับผิดชอบ จิตสาธารณะเพื่อสังคม และมนุษยสัมพันธ์
เป็นตัวอย่างของความต้องการในผลสัมฤทธิ์แต่ละด้าน ซึ่งด้านสมรรถนะคงต้องใช้ครูที่ใช้วิธีการเรียนการสอนแบบ Active leaning ให้นักเรียนศึกษาค้นคว้าปฏิบัติได้ เช่น วิธีการสอนแบบ STEM ที่รวมศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์ให้สามารถสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นนวัตกรรมได้ โดยเกิดทักษะด้านนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรและความคิดเชิงวิเคราะห์ได้ในระบบการสอน
ด้านความรู้เสริม สอดแทรกในหลักสูตรและกิจกรรมเช่นเดียวกับทักษะทางสังคม ครูก็ต้องจัดกิจกรรมให้ซึมซับเข้าไปในตัวเด็ก
เชื่อว่าครูในปัจจุบันพยายามใช้ระบบและวิธีการดังกล่าวกันบ้างแล้ว ทำอย่างไรจึงจะทำให้ครูมีสมรรถนะ ได้รับการเรียนรู้ในวิธีการสอนหรือวิธีการสอนของ STEM หรือ Finland Model หรือ CDIO ของสิงคโปร์ โดยโรงเรียนต้องจัดหา Leaning Space และ Work Space ให้พอเพียงแก่สถานภาพ
ท้ายสุดที่เป็นปัจจัยสำคัญ คือ สัดส่วนของครูกับนักเรียน อุปกรณ์การเรียนการสอน และรายได้ของครู นั่นคือครูต้องเก่งและมีรายได้ที่เหมาะสมเป็นปัจจัยหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาให้ประสบผลสำเร็จ
ขอบคุณที่มาจาก สยามรัฐ 7 กุมภาพันธ์ 2560