สยามรัฐ - 7 กุมภาพันธ์ 2560 : เมื่อเวลา 17.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดสถาปนา สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 ว่า ขั้นตอนหลังจากนี้จะมีพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ในเวลา 17.00 น. วันที่ 12 ก.พ. โดยจะมีการถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย จากพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามแบบการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายพระสุพรรณบัฏ หรือชื่อสมเด็จพระสังฆราชที่จารึกลงบนแผ่นทอง ถวายพัดยศ เครื่องสมณบริขาร หรือเครื่องยศสมเด็จพระสังฆราช และอาลักษณ์อ่านประกาศพระบรมราชโองการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ถือเป็นอันเสร็จพิธี
รองนายกฯ กล่าวว่า สำหรับสมเด็จพระสังฆราชที่จะได้รับการโปรดสถาปนาครั้งนี้ เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่มีวัตรปฏิบัติเป็นที่เคารพนับถือ เลื่อมใส สมถะ อย่างที่มีการพูดถึงกัน เป็นศิษย์ที่เลื่อมใสศรัทธามากของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ส่วนพระนามของสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 จะใช้พระนามว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ และต่อท้ายด้วยชื่อเดิม ซึ่งเป็นพระนามของสมเด็จพระสังฆราชตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 1 ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จนถึงองค์ที่ 18 ส่วนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 นั้น เหตุที่พระนามแตกต่างจาก 18 องค์ที่ผ่านมา เนื่องจากในหลวงรัชกาลที่ 9 โปรดสถาปนาให้มีชื่อเดิม ก่อนที่จะเป็นสมเด็จพระสังฆราช
ขอบคุณที่มาจาก สยามรัฐ 7 กุมภาพันธ์ 2560
ประวัติ “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์” พระสังฆราชองค์ที่ 20 ชาวราชบุรี
พระสังฆราชองค์ที่ 20 ชาวราชบุรี
ประวัติสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14-15 (ธรรมยุต) และแม่กองงานพระธรรมทูต
เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุติกนิกายเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2552 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9
มีราชทินนามตามที่จารึกในสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ พิพัฒนพงศ์วิสุต พุทธปาพจนานุศาสน์ วาสนวรางกูร วิบูลศีลสมาจารวัตรสุนทร ตรีปิฎกธรรมวราลงกรณวิภูษิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆารามคามวาสี อรัณยวาสี”
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ หรือ สมเด็จขาว กรรมการมหาเถรสมาคมและแม่กองงานพระธรรมทูต สิริอายุ 89 พรรษา 68 มีพระนามเดิมว่า “อัมพร ประสัตถพงศ์” เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2470 ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 12 ค่ำ เดือน 7 ปีเถาะ จุลศักราช 1289 ณ ตำบลบางป่า อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โยมบิดา-มารดาชื่อ นายนับ และนางตาล ประสัตถพงศ์ ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย
บรรพชาที่วัดสัตตนารถฯ
ในช่วงวัยเยาว์ เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ 4 ตำบลโคกกระเทียม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปีพ.ศ.2480 ณ วัดสัตตนารถปริวัตร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี มีพระธรรมเสนานี (เงิน นันโท) เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ ย้ายไปจำพรรษาที่วัดตรีญาติ ตำบลพงสวาย เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม, พ.ศ.2483 สอบได้นักธรรมชั้นตรี, พ.ศ.2484 สอบได้นักธรรมชั้นโท, พ.ศ.2486 สอบได้นักธรรมชั้นเอก และสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค, พ.ศ.2488 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค ต่อมาปีพ.ศ.2490 ย้ายมาจำพรรษา ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี(ทองเจือ จินตากโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี พามาฝากกับสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสโน) และให้สามเณรอัมพรเข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2491 ณ มหาพัทธสีมาวัดราชบพิธฯ มีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก(วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์, สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินตากโร) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ภายหลังอุปสมบท ท่านได้มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดราชบพิธฯ พ.ศ.2491 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค และพ.ศ.2493 สอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค
เป็นพระธรรมทูตที่ออสเตรเลีย
ต่อมาสมัครเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) เป็นนักศึกษารุ่นที่ 5 จบศาสนศาสตรบัณฑิต พ.ศ. 2500 ต่อมาปี พ.ศ.2509 ได้เข้าอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เป็นพระธรรมทูตรุ่นแรก ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2512 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี
ในช่วงปี พ.ศ. 2516 เป็นหัวหน้าพระธรรมทูตนำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โดยมีพระขันติมาโล ชาวอังกฤษ เป็นสหธรรมิก พร้อมไวยาวัจกร ตามคำนิมนต์ของประธานพุทธสมาคมแห่งรัฐนิวเซาธ์เวลส์ ถือว่าเป็นพระธรรมทูตไปต่างประเทศรุ่นแรกของคณะสงฆ์ธรรมยุต ได้วางรากฐานพระพุทธศาสนา ตลอดถึงเป็นเนติให้สหธรรมิกที่มาภายหลังได้เผยแผ่อย่างเป็นรูปแบบ ทำให้พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมีความมั่นคง มีวัดและพระสงฆ์อยู่ประจำรัฐแห่งนี้ ก่อนขยายไปยังเมืองใหญ่อีกหลายเมือง อาทิ กรุงแคนเบอร์รา นครเมลเบิร์น และเมืองดาร์วิน เป็นต้น
เป็นพระอาจารย์ที่มหามกุฎฯ
เป็นอาจารย์สอนธรรมวินัยแก่พระภิกษุ-สามเณร, กรรมการสนามหลวงแผนกธรรมและแผนกบาลี, นายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) เป็นต้น
ปี พ.ศ. 2552 สภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ถวายปริญญาศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์, พ.ศ. 2553 สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ
งานด้านสาธารณูปการ เป็นประธานอำนวยการฝ่ายบรรพชิต พระมหาธาตุเจดีย์และเขตพุทธาวาสเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และฉลองมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ณ วัดธัมมธโร กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย, เป็นประธานสร้างวัดแหล่งทองแดงพรหมสราราม อ.ดอนตูม จ.นครปฐม เป็นต้น
งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นรองแม่กองงานพระธรรมทูต รูปที่ 2 ผู้นำพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ไปเผยแผ่ในประเทศออสเตรเลีย, เป็นรองประธานกรรมการที่ปรึกษาสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) เป็นต้น
ด้านการศึกษาสงเคราะห์และสาธารณสงเคราะห์ ได้มอบทุนสงเคราะห์แก่ผู้เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์, เป็นรองประธานกองทุนวัดช่วยวัดของมหาเถรสมาคม (มส.) ให้ความช่วยเหลือเมื่อมีอุบัติภัย วาตภัย อุทกภัย หรือภัยแล้ง นำเงินบริจาคเพื่อสงเคราะห์ผู้ประสบภัยนั้นๆ ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
งานปกครองคณะสงฆ์ในปัจจุบัน เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร, ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14-15 (ธรรมยุต), กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.), กรรมการคณะธรรมยุต, นายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.), กรรมการบริหารมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, แม่กองงานพระธรรมทูต, ประธานมูลนิธิพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร นับว่าเป็นศิษย์หลวงปู่ฝั้นที่มีสมณศักดิ์สูงสุดในปัจจุบัน คือเป็นถึงสมเด็จพระราชาคณะ, พระอุปัชฌาย์ เป็นต้น
ลำดับสมณศักดิ์
– พ.ศ.2514 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระปริยัติกวี
– พ.ศ.2524 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชสารสุธี
– พ.ศ.2533 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพเมธาภรณ์
– พ.ศ. 2538 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมเมธาภรณ์
– พ.ศ. 2543 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏหรือรองสมเด็จพระราชาคณะ ที่ พระสาสนโสภณ วิมลญาณอดุลสุนทรนายก ตรีปิฎกธรรมาลังการภูษิต ธรรมนิตยสาทร ศาสนกิจจานุกร ธรรมยุติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
– เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2552 เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ที่ “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ พิพัฒนพงศ์วิสุต พุทธปาพจนานุศาสน์วาสนวรางกูร วิบูลศีลสมาจารวัตรสุนทร ตรีปิฎกธรรมวราลงกรณวิภูษิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี” สถิต ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 10 รูป
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่เอาใจใส่ในกิจการงานของพระอารามหลวงด้วยดีตลอดมา ดังจะเห็นได้จากตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ที่รับภารธุระอยู่ ทุกประการล้วนต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ พร้อมทั้งความตั้งใจจริงอย่างดียิ่ง ได้ทำหน้าที่ในฐานะแห่งนักปกครองที่เอาใจใส่ดูแลความเป็นไปของวัดและคนในวัดอย่างดียิ่ง รวมทั้งท่านยังได้สร้างคุณูปการแด่คณะสงฆ์อย่างมากมาย
ศิษย์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เป็นศิษย์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่มีสมณศักดิ์สูงสุดในปัจจุบัน คือเป็นถึงสมเด็จพระราชาคณะ เป็นพระธรรมทูตไปต่างประเทศรุ่นแรกของคณะสงฆ์ธรรมยุต และเป็นหัวหน้านำพระพุทธศาสนาจากประเทศไทยไปเผยแผ่ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โดยได้วางรากฐานพระพุทธศาสนาจนมั่นคง มีวัดและพระสงฆ์ไทยอยู่ประจำ ณ นครซิดนีย์ มาจนถึงปัจจุบัน และได้ขยายไปยังเมืองใหญ่อีกหลายเมือง เช่น กรุงแคนเบอร์รา นครเมลเบิร์น และเมืองดาร์วิน เป็นต้น
ขอบคุณที่มาจาก มติชนออนไลน์ วันที่: 7 ก.พ. 60 เวลา: 17:05 น.