แฉเอกชนเมินต่อยอด-80% ขึ้นหิ้ง ปลื้ม สปป.ลาวนำ “แก้มลิง” ไปแก้น้ำท่วม
นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า หลังจากได้ตรวจเยี่ยมหน่วยงานในสังกัด พบปัญหาอุปสรรค โดยเฉพาะการทำงานของ วท.ที่ค่อนข้างไม่เชื่อมโยงกับภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม
ขณะที่ผลงานการวิจัย โดยเฉพาะของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นองค์กรวิทยาศาสตร์ของประเทศ ทำงานวิจัยออกมาใช้ประโยชน์ได้จริงน้อยมาก ทำแล้วอยู่บนหิ้ง ภาคเอกชนไม่ให้ความสนใจ ทั้งนี้ ผลงานวิจัยของ สวทช.ที่ใช้งานได้จริงคือมีภาคเอกชนให้ความสนใจนำไปต่อยอด มีแค่ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนอีก 80 เปอร์เซ็นต์ใช้ประโยชน์จริงไม่ได้เลย ขณะที่งบประมาณการวิจัยก็ยังต้องพึ่งพาจากภาครัฐถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์ ตรงข้ามกับในต่างประเทศ เช่นที่เยอรมนี ที่ตนไปดูงานมา ปรากฏว่าผลงานวิจัยสามารถนำไปใช้งานได้ถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์ และนำมาซึ่งรายได้ ให้องค์กรวิจัยสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ดังนั้น แนวทางการทำงานของ วท.จากนี้ การทำงานวิจัยจะต้องใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่ทำวิจัยแบบทิ้งขว้าง สามารถนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปช่วยภาคการผลิต ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้น รวมทั้งต้องทำวิจัยเพื่อชุมชนด้วยเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน
รมว.วท.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ วท.ได้มีการลงนามความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับ สปป. ลาว มีโครงการสำคัญคือ โครงการพัฒนาชุมชน (Smart Village) เพื่อแปรรูปองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสู่รูปแบบการทำกิจกรรมที่นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจในชุมชน โดยจะมุ่งเน้นสาขาเป้าหมาย ได้แก่ พลังงาน การเกษตร ความหลากหลายทางชีวภาพ การบริหารจัดการน้ำ นวัตกรรมเพื่อชุมชน ซึ่ง สปป.ลาว สนใจที่จะนำโครงการแก้มลิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ไปใช้เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เป็นต้น ที่สำคัญประเทศไทยและ สปป.ลาวจะมีการดำเนินการด้านสาธารณสุขที่เป็นปัญหาร่วมกัน คือโรคไข้หวัดนกด้วย.
ขอบคุณที่มาจาก ไทยรัฐ วันที่ 6 ก.พ.60