“ธีระเกียรติ-สัมพันธ์” ตรวจเยี่ยมสนามสอบโอเน็ตป.6-ม.3 แจงปีแรกป.6ต้องสอบอัตนัยภาษาไทย 20% และประเดิมใช้ระบบ E-Testing สอบม.3 ชม สทศ.ทำงานดีเป็นต้นแบบการจัดสอบ
เมื่อวันที่ 4 ก.พ.60 เวลา 09.00 น.ที่โรงเรียนราชวินิต ประถม นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วย รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และคณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตรวจเยี่ยมสนามสอบของโรงเรียนราชวินิต ประถมซึ่งจัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ประจำปีการศึกษา 2559 ระดับประถมศึกษา (ป.)ปีที่ 6 และมัธยมศึกษา (ม.)ปีที่ 3 โดย นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่วิชาภาษาไทยชั้นป.6 มีข้อสอบอัตนัย 20% ตามนโยบายที่มอบให้ สทศ.ดำเนินการ เป้าหมายเพื่อวัดความคิดพื้นฐานของเด็ก และประเมินว่าเด็กเขียนรู้เรื่อง จับใจความได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเราพบปัญหาว่าเด็กบางคนอ่านออก แต่เขียนไม่ได้ บางคนอ่านไม่ได้ เขียนไม่ได้
"หมอธี"จี้ผุดคลังข้อสอบโอเน็ตลั่น5ปีคะแนนดีขึ้นนอกจากนี้ การสอบโอเน็ตปี 2559 ยังเป็นปีแรกที่ สทศ.นำระบบE-Testing ซึ่งเป็นการสอบทางอิเล็กทรอนิกส์ ลักษณะเดียวกับการทดสอบนักเรียนนานาชาติ หรือ พิซา มาใช้ในการสอบโอเน็ตระดับม.3 ซึ่งเป็นการทดลองสอบโดยได้รับอาสาสมัคร ที่จะเข้าสอบในระบบดังกล่าว ปรากฎว่ามีผู้สมัครและมีสิทธิ์เข้าสอบ จำนวน 648 คนใน 4 ศูนย์สอบทั่วประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยบูรพา 160 คน,มหาวิทยาลัยนเรศวร 146 คน,มหาวิทยาลัยขอนแก่น 179 คน และที่ สทศ.163 คน ทั้งนี้ เมื่อผลการสอบออกมาก็จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าครูควรสอนอย่างไร อย่างไรก็ตาม ในอนาคตมีแนวคิดจะเพิ่มสัดส่วนข้อสอบอัตนัยวิชาภาษาไทย เป็น 30% ด้วยตลอดจนขยายระบบการสอบE-Testing ให้มากขึ้น
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ตนมีนโยบายให้ สพฐ.จัดทำ E-Testing Bank หรือ คลังข้อสอบอิเล็กทรอนิกส์พร้อมคำเฉลยในทุกวิชา ที่ให้เด็กทุกระดับชั้นตลอดจนครูผู้สอน สามารถเข้ามาทดลองทำข้อสอบเสมือนจริงได้ตลอดเวลา ซึ่งมีแนวคิดจะพัฒนาในรูปแอปพลิเคชันด้วยให้ง่ายต่อการใช้งาน ทั้งนี้ เด็กจะได้รู้ว่าตนเองมีสมรรถนะ มาตรฐานรู้ในระดับชั้นของตนเท่าไร นำความรู้ไปใช้เท่าไร โดยข้อสอบจะมีทั้งแบบปรนัยและอัตนัย ทั้งนี้ การปรับวิธีการประเมินและให้มีคลังข้อสอบนี้จะส่งผลให้ครูในโรงเรียนต้องปรับวิธีการสอน เพราะการสอบอัตนัยจะมาติวไม่ได้ ต้องใช้เวลาในการฝึกฝน
"หมอธี"จี้ผุดคลังข้อสอบโอเน็ตลั่น5ปีคะแนนดีขึ้น“แนวทางนี้ถือเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริงและจะทำให้คะแนนโอเน็ตของเด็กขยับเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะไม่เห็นผลภายใน 1 ปีแต่เชื่อว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าเห็นผลแน่นอน และจากการตรวจสอบสนามสอบขอชื่นชม สทศ.ที่เตรียมการดีมาก ผมไม่กลัวเรื่องการทุจริตสอบเลย เพราะข้อสอบของเด็กที่สอบในห้องเดียวกันนั่งใกล้กันจะเป็นคนละคนละชุดไม่สามารถลอกกันได้ ซึ่งสามารถนำวิธีการของ สทศ.ไปต้นแบบในการจัดสอบคัดเลือกบุคคลได้เลย ส่วนการตรวจข้อสอบวิชาภาษาไทยอัตนัย 20% สทศ.ได้เตรียมการอบรมครูในการออกข้อสอบและตรวจข้อสอบไว้แล้ว 2,000 กว่าคน”รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
ด้าน รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าวว่า การสอบโอเน็ต ประจำปีการศึกษา 2559 ชั้นป.6 สอบวันเดียวคือ วันที่ 4 ก.พ.นี้ โดยมีศูนย์สอบ 186 ศูนย์ 4,182 สนามสอบ จำนวน 29,582 ห้องสอบ มีผู้มีสิทธิ์สอบ 807,087 คน ส่วนการสอบโอเน็ต ชั้นม.3 สอบวันที่ 4-5 ก.พ.นี้ โดยมีศูนย์สอบ 227 ศูนย์ 4,329 สนามสอบ จำนวน 25,108 ห้องสอบ มีผู้มีสิทธิ์สอบ 688,979 คน สำหรับการสอบโอเน็ตชั้นม.6 จะสอบวันที่ 18-19 ก.พ.นี้มีศูนย์สอบ 18 ศูนย์ 405 สนามสอบ จำนวน 13,433 ห้องสอบ มีผู้มีสิทธิ์สอบ 394,343 คน ทั้งนี้ การสอบโอเน็ตมีผู้พิการทางสายตาเข้าสอบด้วย โดยชั้นป.6 เข้าสอบ 325 คน และม.3 เข้าสอบ 180 คน ซึ่งสทศ.ได้เตรียมอุปกรณ์สถานที่และอาจารย์คุมสอบเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักเรียนกลุ่มนี้ สำหรับการออกข้อสอบแบบอัตนัยนั้น สทศ.ยินดีดำเนินการทุกวิชาต้องมี 3 ปัจจัย คือ 1.งบประมาณดำเนินการ 2.เวลาในการออกข้อสอบและตรวจข้อสอบ และ 3.ผู้ที่จะมาเป็นคนออกข้อสอบและตรวจข้อสอบ
ขอบคุณที่มาจาก คม ชัด ลึก วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2560