ขอบคุณที่มาจาก คอลัมน์ : ฝ่ากำแพงเมืองจีน หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดย “อ.ดร.ศิริเพ็ชร ทฤษณาวดี” คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ :
ปัจจุบันคนจีนบ้าเรียนภาษาอังกฤษมาก วัดผลสอบ TOEFL IELTS เด็กๆ ทำคะแนนได้เต็ม เกือบเต็มแทบทั้งนั้น จึงเห็นภาพคนจีนพูดอังกฤษได้ดีมาก ขณะที่คนไทยยังอยู่อันดับรั้งท้ายของเอเชีย
เมื่อถึงฤดูกาลแห่งการปิดเทอมหน้าหนาว หรือหน้าร้อนในจีนนั้น กระแส “การเรียนภาษาอังกฤษ” ก็ได้รับความนิยมอีกครั้งเช่นเดียวกับในทุกๆ ปี ในปัจจุบันคนจีนสนใจเรียน “ภาษาอังกฤษ” อย่างมาก ไม่เพียงแต่เริ่มเรียนตั้งแต่วัยอนุบาล ในชั้นเรียนในระดับประถม มัธยม และมหาวิทยาลัย ตราบจนทำงานก็ยังคงเรียนกันต่อไป
แล้วกระแส “การเรียนภาษาอังกฤษ” กันอย่างกระหน่ำบ้าคลั่งแบบนี้มาจากไหนหรือ?
คนจีนนั้นเรียนภาษาต่างประเทศกันมาเป็นร้อยปีแล้ว เพื่อจะติดต่อและมองไปสู่โลกภายนอก ฉะนั้นเมื่อ “ภาษาอังกฤษ” กลายเป็นหนึ่งในภาษากลางที่ใช้ติดต่อกับโลกภายนอก กระแส “การเรียนภาษาอังกฤษ” จึงร้อนแรงขึ้นมาอย่างห้ามมิได้
หากดูไปในประวัติศาสตร์จีนแล้ว คนดังในประวัติศาสตร์จำนวนมากล้วนแต่สามารถพูดภาษาต่างประเทศได้เป็นอย่างดี และเคยไปศึกษาในต่างประเทศมาเป็นจำนวนมาก การใช้ภาษาของคนเหล่านี้จึงไม่เพียงแต่ใช้เป็น พูดได้ หากยังสามารถแปลและเป็นล่ามได้อย่างคล่องแคล่ว
อีกทั้งคนจีนยังมีนิสัยชอบเรียนและศึกษาหาความรู้ตลอด “ภาษาอังกฤษ” จึงกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเรียนไปอย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะปลายทศวรรษที่ 90 ความสามารถที่ผู้คนจะต้องศึกษาเพิ่มจนทำได้มี 3 ด้าน คือ คอมพิวเตอร์ ขับรถ และภาษาต่างประเทศ ประกอบกับการมีคนแบบ “แจ็คหม่า” เป็นต้นแบบของความสำเร็จ
จากวันที่จีนปฏิรูปเปิดประเทศจนทุกวันนี้ อังกฤษจึงกลายเป็นภาษาที่ทุกคนจำเป็นต้องเรียนและใช้ได้ มีนักธุรกิจไม่น้อยที่ประสบความสำเร็จได้จากการที่พูดภาษาอังกฤษได้ จนทำให้สามารถโกอินเตอร์ได้ รวมทั้ง “แจ็คหม่า” จากที่เคยเรียนในสาขาวิชาเอกภาษาอังกฤษในวิทยาลัยครูเมืองหังโจว จนไปเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษและการค้าระหว่างประเทศในวิทยาลัยด้านอาชีวะ จนมีโอกาสได้ไปเป็นล่ามที่เมืองซีแอตเทิล ในสหรัฐฯ และได้มีเพื่อนแนะนำให้เขารู้จักกับอินเทอร์เน็ต
หลังกลับมาจีนเขาจึงได้เริ่มต้นทำ “ธุรกิจออนไลน์” จนสามารถประสบความสำเร็จในธุรกิจอีคอมเมิร์ช จนกลายเป็น “เศรษฐีระดับโลก” ดังนั้น “ภาษาอังกฤษ” จึงเป็นใบเบิกทางชั้นดีของการเข้าสู่งานและโอกาส และอังกฤษจึงเป็นบันไดในการก้าวไปสู่โลก กระแสความร้อนแรงในการเรียน “ภาษาอังกฤษ” ในจีนจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในชั่วโมงนี้
คนจีนปัจจุบันนี้บ้าเรียน “ภาษาอังกฤษ” กันอย่างมาก จะพบได้จากความนิยมในการเรียนภาษาอังกฤษไม่ได้มีเฉพาะในห้องเรียนตามโรงเรียน แม้แต่ตามศูนย์เรียนภาษาอังกฤษเอกชนในจีนนั้นก็มีทั้งนักเรียน นักศึกษา และคนที่ทำงานแล้วไปเรียนกัน ทั้งนี้เพราะการรู้ภาษาอังกฤษนั้นจะเป็นใบเบิกทางที่ดีในการทำงาน รวมถึงโอกาสในการทำงานหรือเรียนต่อในต่างประเทศ
ฉะนั้นภาพคนจีนที่พบในประเทศตะวันตก หรือทำงานในองค์กรระหว่างประเทศนั้น จะสุภาพและพูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก คนจีนรุ่นใหม่จะให้ความสำคัญกับการเรียนภาษาอังกฤษมาก และใช้บ่อยมาก บางคนที่เคยเจอพูดภาษาอังกฤษแบบเจ้าของภาษาเลย แถมไม่เคยไปเรียนที่ต่างประเทศ เรียนภาษาอังกฤษจากในประเทศจีนเท่านั้น หากวัดการสอบภาษาอังกฤษด้วยการสอบ TOEFL IELTS แล้วนั้น เด็กจีนเรียกได้ว่าทำคะแนนได้เต็ม เกือบเต็ม กันแทบทั้งนั้น
ทั้งนี้เพราะการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ คนที่จะมาเป็นครูสอนนั้น ต้องเป็นคนที่เก่งมากในแทบทุกวิชา ฉะนั้นการถ่ายทอดจากข้อมูลที่ถูกต้อง ความตั้งใจจริงทั้งคนสอน คนเรียน รวมถึงการเอาใจใส่ของผู้ปกครองที่มีวินัย ไม่ใช่พอลูกทำไม่ได้ก็ปลอบใจว่า “ไม่เป็นไร เปลี่ยนไปเรียนอย่างอื่นก็ได้”
จึงเป็นการบ่มเพาะเด็กไทยใจไม่สู้ เป็น “ไม้หลักปักขี้เลน” ในขณะที่การรับครูก็ต้องมีเพียงวุฒิครูเป็นใบเบิกทาง เก่งไม่เก่งไม่ใช่ประเด็น รวมถึงสอนผิดก็ไม่เป็นประเด็นด้วย จึงทำให้เด็กที่ได้รับการถ่ายทอดจากพิมพ์ที่ไม่มีคุณภาพ ก็ไม่มีคุณภาพตามไปด้วย
ในขณะที่คนจีนมีความกระตือรือร้นที่จะเรียน “ภาษาอังกฤษ” กันอย่างน่าตกใจ ในไทยก็ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าจีนหรอก มีความพยายามจะเสริมการเรียนกันทุกรูปแบบ ไม่เฉพาะแต่ภาษาอังกฤษที่มีชั้นเรียนกันหลากหลายรูปแบบ ทั้งครูไทย ครูฝรั่ง ครูฟิลิปปินส์ และวิธีการเรียนการสอนหลากหลายรูปแบบ
แต่หากวัดความสามารถทางการใช้ภาษาอังกฤษในปี 2558 ประเทศไทยนั้นจัดอยู่ในอันดับที่ 14 จากบรรดาประเทศเอเชียทั้งหมด 16 ประเทศตามหลังทั้งสิงคโปร์ (1) มาเลเซีย (2) เวียดนาม (5) อินโดนีเซีย (8) และจีน (11) ในขณะที่สถิติปี 2559 ของ Education First (EF) นั้น จากทั้งหมด 72 ประเทศ ไทยติดอันดับที่ 56 และเป็นอันดับที่ 15 จากประเทศในเอเชียทั้งหมด 19 ประเทศ และรั้งท้ายอันดับ 3 ของอาเซียนตามด้วย กัมพูชา และลาว
เมื่อดูคนจีนขยันและตั้งใจเรียน “ภาษาอังกฤษ” กันขนาดนี้ แม้คนไทยจะอยากเลียนแบบบ้าง แต่ดูเหมือน “การศึกษาไทยจะติดอยู่กับหล่มที่มันลึก และยากที่จะดึงกลับมาให้ถูกทิศถูกทาง” จึงพบได้ว่าเด็กไทยนั้นถูกระบบการศึกษาที่เน้นสะเปะสะปะของบรรดาเหล่าผู้มีอำนาจในการสั่งการ แก้ไขนโยบายไปเรื่อย ให้เน้นการเรียนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ให้เน้นกิจกรรม เดี๋ยวให้ลดการบ้าน ให้เล่นดนตรีไทย ให้เพิ่มกีฬา ลดเวลาเรียน
ในขณะเดียวกันเมื่อคะแนนการวัดผลในระดับนานาชาติตก ก็มานั่งวิจารณ์ระบบ และแก้ไขนโยบายใหม่กันแทบทุกปี ทำให้เด็กไทยต้อง “ก้มหน้ารับกรรม” กับความไม่นิ่งของนโยบายที่ขยันเปลี่ยนไป มีการสอบวัดทั้งโอเน็ต ทั้งการสอบรวมมาตรฐาน การสอบย่อย สอบเก็บคะแนน สอบกลางภาค สอบปลายภาค จนเด็กๆ แทบจะไม่ต้องคิดหาทำอะไร มัวแต่วิ่งตามระบบก็หมดเรี่ยวหมดแรงจะไปเรียนหรือหาความรู้ต่อแล้ว
…...........................................
คอลัมน์ : ฝ่ากำแพงเมืองจีน
โดย “อ.ดร.ศิริเพ็ชร ทฤษณาวดี”
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์ วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 10.00 น.