...นี่คือเสี้ยวส่วนหนึ่ง..ของชีวิตครูชายแดน..ขออนุญาตนำเสียงครูเล่าสู่เพื่อนครู...ดูบรรยากาศ
ความเป็นอยู่การใช้ชีวิตครู-นักเรียน ชายแดน....
เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผมได้ไปเที่ยวที่จังหวัดแห่งหนึ่งทางภาคตะวันตกของไทย
จังหวัดแห่งนี้มีเอกลักษณ์คือภูมิประเทศที่เป็นป่าและเทือกเขา มีประชากรที่หลากหลายเชื้อชาติ ทั้งชาวไทย ชาวจีน พม่า อินเดีย และชาวเขาเผ่าต่างๆ
ผมเองชอบการท่องเที่ยวดูวิถีชีวิตผู้คนมาแต่ไหนแต่ไร ชอบตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนออกค่ายอาสา ไปทำฟันให้เด็กๆบนดอย
เด็กบนดอยมีความน่ารัก และใสซื่อบริสุทธิ์ บางคนขี้อาย บางคนขี้เล่น บางคนบ้ากล้องด้วยครับ อิอิ....
เรื่องที่อยากพิมพ์ให้อ่านวันนี้ เป็นเรื่องราวที่ผมได้พบเจอจากอำเภอติดชายแดนแห่งหนึ่งในจังหวัดตาก
หลังจากที่ผมทำงานของตนเองเรียบร้อยแล้วก็พอมีเวลาว่างอยู่บ้าง และด้วยความกรุณาของคุณหมอท่านหนึ่งที่ทราบว่าผมชอบเที่ยว จึงชวนไปออกพื้นที่ในหมู่บ้านกะเหรี่ยง ไปช่วยทำฟันตรวจสุขภาพให้กับเด็กๆ
ช่วงเวลาหลายวันนั้น ผมได้ไปหลายหมู่บ้าน มีทั้งกางเต๊นท์นอนเอง อาศัยนอนกับชาวบ้าน เป็นประสบการณ์ที่สนุกและน่าจดจำทีเดียว
สถานที่แรกที่ผมจะเล่าเป็นโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในหมู่บ้านคำหวัน ผมเข้าไปในโรงเรียนตอนสายๆเพราะจากตัวอำเภอกว่าจะถึงหมู่บ้านก็ใช้เวลาหลายชั่วโมง คนในหมู่บ้านเป็นชาวกะเหรี่ยงปาตกายอ แต่ช่วงที่ผมไปไม่ค่อยเจอผู้ใหญ่ครับ พวกเขาออกไปทำไร่และเก็บของป่า มีเพียงสาวๆนั่งทอผ้าที่บ้าน และมีเด็กๆที่มาโรงเรียน
โรงเรียนแห่งนี้จัดตั้งขึ้นหลายสิบปีแล้ว โดยในระยะแรกเป็นเพียงเรือนไม้ที่คุณตำรวจรุ่นบุกเบิกได้ก่อสร้างไว้ และสอนเด็กๆไปตามมีตามเกิด ต่อมามีโครงการขยายโอกาสทางการศึกษา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชทานทรัพย์สร้างโรงเรียนและสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอน หลังเสด็จสวรรคตในปีพศ.2538 โรงเรียนก็ยังอยู่ในพระบรมราชูปถัมป์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ซึ่งช่วยให้เด็กๆได้เรียนหนังสือจนถึงป.6
ปัจจุบันโรงเรียนแห่งนี้มีครู7คน เป็นตำรวจตระเวนชายแดนทั้งหมด บางคนพักในตัวเมือง เช้ามืดรีบตื่นเพื่อขับ4WD มาสอนหนังสือ และครูบางคนก็พักที่บ้านพักไม้เล็กๆหลังโรงเรียน คอยดูแลเด็กบ้านไกลกว่าหลายสิบคนที่มาอาศัยเรือนนอนของทางโรงเรียน
เด็กบ้านไกล คือเด็กที่บ้านอยู่ในป่าลึก บางคนอาจอยู่ห่างจากโรงเรียน10-15กิโลเมตร การมาโรงเรียนแต่ละครั้งจึงต้องเดินทางกว่าครึ่งวัน ทางโรงเรียนเห็นถึงความยากลำบากนี้จึงจัดให้มีเรือนนอนของเด็กบ้านไกล เด็กประถมตัวเล็กๆตื่นตั้งแต่ตี3-4 เดินสะพายย่ามมาเรียนเช้าวันจันทร์และกลับไปหาพ่อแม่ตอนเย็นวันศุกร์ เป็นความขยันที่ทำให้ผมนึกถึงถึงคนไทยเราสมัยก่อน ที่ต้องเดินเท้านับสิบๆกิโลไปโรงเรียน เพื่อหาวิชาความรู้ให้ตนเอง
เด็กเหล่านี้เป็นผู้ใหญ่มากกว่าที่ผมคิด ต้องดูแลตัวเอง ตื่นเช้ามาทำอาหาร ล้างจาน ซักผ้า รดน้ำแปลงผัก ก่อนไปเข้าเรียน..
ช่วงเย็นหลังเลิกเรียน กิจกรรมของน้องๆคือวิ่งเล่น และไม่ลืมที่จะรดน้ำผัก ให้อาหารปลาที่เลี้ยงไว้เป็นอาหารกลางวัน
เด็กๆที่นี่มีความรับผิดชอบสูง และรักกันเหมือนพี่น้อง เด็กโตดูแลเด็กเล็ก มีอะไรก็ต้องแบ่งๆให้น้องกิน
จำได้ว่าช่วงพักกลางวันหลังจากล้างเครื่องมือทำฟันเสร็จ น้องๆจะให้ผมตักข้าวกินก่อน แต่ผมรู้สึกว่าผมโตกว่า ก็ควรเสียสละให้เด็กเล็กๆก่อนเช่นกัน
นอกจากเรื่องน้ำใจที่พี่มีให้น้องแล้ว ผมยังสังเกตเห็นว่า เด็กๆที่นี่รักและเคารพครูของเขามาก แม้จะวิ่งเล่น หรือทำอะไรอยู่ก็ตาม แค่เพียงครูสั่งหรือครูบอกให้ช่วยทำ ทุกอย่างจะเรียบร้อยทันตาได้อย่างน่าทึ่ง ก็ไม่รู้เพราะการสอนแบบตำรวจหรือเพราะอะไร ทำให้เด็กๆมีระเบียบวินัยสูงมากๆ(มากกว่าผมซะอีก เหอๆๆ)
นอกจากได้คุย ได้เล่น และได้ทำฟันให้เด็กๆแล้ว ผมเองยังได้ฟังเรื่องราวจากครูที่นี่อีกหลายท่าน ครูในชุดสีเขียวที่แม้ดูหน้าตาขึงขัง สะพายปืนตลอดเวลา แต่จริงแล้วใจดีและกันเองกว่าที่คิด
เอาล่ะ ลองมาฟังเรื่องราวของครูตำรวจ(หนุ่มบ้าง แก่บ้าง) กันดีกว่า
ครูคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า เข้ามาในหมู่บ้านในยุคที่ต้องเดินเท้า ใช้เวลาเดินป่าทั้งวัน ตอนนั้นไม่มีใครพูดภาษาไทยได้เลย "ทีวี ตู้เย็น ไม่ต้องพูดถึง เพราะที่นี่ไม่มีไฟฟ้า ผมอยู่ในยุคที่ไม่มีห้องน้ำห้องส้วม ชาวบ้านทั้งหนุ่มทั้งสาวอาบน้ำในแม่น้ำ เห็นเปลือยจนเบื่อเลยล่ะคุณ"
"ตอนที่มาแรกๆ เขาก็สงสัยว่าเราเข้ามาทำไม ตอนนั้นคือเราเข้ามาสำรวจ เข้ามาช่วยดูแล นานๆไปชาวบ้านก็เริ่มไว้ใจเรา เราเป็นทั้งตำรวจ ทั้งครู ทั้งหมอ ในฤดูฝนหมู่บ้านแห่งนี้เหมือนโดนตัดขาดจากโลกภายนอก บางครั้งมีชาวบ้านอุ้มเด็กตัวร้อนมาขอยาที่บ้านพัก เราก็ต้องช่วยเท่าที่ทำได้... "
เมื่อถามถึงโรงเรียนแห่งนี้และแนวทางพัฒนา สิ่งที่ได้ยินจากปากของครูตำรวจเหล่านี้ ทำเอาหัวใจผมอึ้ง
ครูบอกว่า การอยู่โรงเรียนนี้มานานทำให้ผูกพันกับเด็กๆ ตอนนี้รัฐบาลมีโครงการขยายโอกาสให้เด็กไทยเรียนจบถึงม.3 แต่หมู่บ้านแห่งนี้ก็อยู่ไกลเหลือเกิน เด็กหลายคนไม่มีสัญชาติ เด็กๆไม่มีพาหนะเดินทาง ไม่มีเงินไปเรียนต่อโรงเรียนมัธยมในตัวอำเภอ
ตนเองอยากให้เด็กได้เรียนสูงกว่าป.6 อยากอยู่สอนที่นี่ไปเรื่อยๆ แต่ก็ทำไม่ได้เพราะไม่มีวุฒิการศึกษา "ผมไม่ได้จบสายการศึกษามา ผมสอนได้แค่ภาษาไทย บวกลบเลขง่ายๆ...ไม่ให้พวกเขาโดนคนในเมืองหลอกลวง"
...
ทุกวันนี้ครูตำรวจตระเวนชายแดนก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่ที่โรงเรียน รอวันที่จะมีครูที่แท้จริงเสียสละเข้ามาทำงาน "ถึงแม้จะผูกพันกับโรงเรียนมาก แต่ถ้ามีคนที่ดีกว่าเข้ามา พวกผมก็พร้อมจะเข้าป่าไปเรื่อยๆ ยังมีอีกหลายหมู่บ้านที่ห่างไกลและอยู่ลึกเข้าไป"
ช่วงเวลาสองวันในหมู่บ้านแห่งนี้ ทำให้ผมได้เรียนรู้อะไรมากมาย
ในคืนที่เงียบสงบ ในหมู่บ้านกลางป่า ผมนอนในบ้านไม้ของพี่อสม. ฟังเสียงตุ๊กแกวิ่งเล่นบนฝาผนัง ไม่มีสิ่งบันเทิงใดๆ ไม่มีแสงสีใดๆ คนที่เคยชินกับความเจริญของเมืองหลวงมาอยู่ที่นี่ไม่นานก็คงเบื่อ
แต่กลุ่มคนเหล่านี้ ก็ยังเลือกที่จะทำงานเพื่อคนต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา เพื่อคนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนชายขอบของสังคม...
ในบ้านไม้หลังเล็กที่เปลี่ยวเหงา คงมีบางอย่างที่ทำให้พวกเขาอบอุ่นในหัวใจ...
นั่นคือความรู้สึกยินดี ที่ได้เป็นผู้ให้.. ให้โอกาสแก่เด็กๆ ซึ่งเหมือนดาวดวงน้อยๆ
ดางดวงน้อยในป่าทึบที่ห่างไกล...
********
ครูเป็นเพียงนักรบจบแค่นี้
บุกป่าดงพงพีเข้ามาหา
ครูไม่มีทั้งสิ้นปริญญา
ครูมีแต่ศรัทธามาจากใจ
จะจุดเทียนส่องสว่างที่กลางป่า
ไม่เลือกว่าหน้าตาภาษาไหน
ถึงแม้งานจะหนักสักเพียงใด
ด้วยดวงใจของครูจะสู้ทน....
ขอบคุณน้ำใจของครูตชด.ทุกๆท่านครับ...
มนต์เสน่ห์อย่างหนึ่งของชุมชนที่ห่างไกลคือรอยยิ้มที่จริงใจ
น้องผู้หญิงหรือที่ผมเรียกว่ามึหน่อ กำลังช่วยกันล้างเครื่องมือทำฟัน
มึหน่อเป็นภาษากะเหรี่ยงแปลว่าเด็กผู้หญิง ถ้ามึเฉยๆแปลว่าหญิงที่อายุมากแล้ว ปาตีแปลว่าลุง นอกจากนี้ยังมีภาษากะเหรี่ยงอีกหลายคำที่ผมได้เรียนรู้เช่น แมะชา แถะแม ชาแจ่ะแจ่ะ
เด็กดื่มน้ำประปาภูเขา ซึ่งสูบมาจากลำน้ำหลังโรงเรียน น้ำไม่ใส ไม่มีอย.รับประกันเหมือนในเมือง แต่เย็นชื่นใจ
สังเกตอย่างหนึ่งคือเสื้อกะเหรี่ยงที่น้องสวม...
โรงเรียนมีนโยบายอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น จึงให้เด็กๆใส่เสื้อประจำเผ่ามาเรียนหนังสือได้ เสื้อที่ทอเองด้วยฝีมือแม่ พี่สาว หรือยายซึ่งเป็นคนในครอบครัว แต่ละตัวใช้เวลาทอนานเป็นสัปดาห์ ถ้าเป็นเสื้อผู้หญิงจะเป็นสีขาว เนื้อผ้านิ่ม ถ้าเป็นเสื้อผู้ชายจะมีสีสันสดใส เช่นสีแดง ชมพู ส้ม ฟ้า และมีเนื้อผ้าแข็ง ของผมเองก็มีเสื้อเผ่า1ตัวครับ สีชมพู ผ้าแข็ง แต่ใส่สบายทีเดียว
เด็กชายปีนต้นไม้เพื่อขึ้นไปเก็บยอดไม้มาจิ้มน้ำพริกเป็นอาหารกลางวัน แม้หมู่บ้านนี้จะไม่มีตลาดขายของ แต่อาหารหาได้ทุกที่ทั้งบนดินและในน้ำ ผมจำไม่ได้แล้วว่าเจ้าต้นนี้ชื่ออะไร แต่เห็นลีลาการปีนแล้วทึ่งมากๆ ปีนเร็วพอๆกับลิงที่เกาะสมุยเลย เหอๆๆ
กระท่อมไม้หลังเล็กหลังโรงเรียน
หน้าบ้านทาสีสดใส ตกแต่งด้วยรากไม้ มีเสื้อกางเกงสีเขียวพาดแขวนอยู่หน้าบ้าน
เดาถูกแล้วครับ.. นี่คือบ้านพักครูนั่นเอง
เบื้องหลังครูตำรวจตระเวนชายแดน
มือคู่หนึ่งถือปืนเป็นผู้พิทักษ์ชายแดน และในขณะเดียวกัน มือคู่นี้ก็ขีดเขียนกระดานดำเป็นผู้ชี้นำทางการศึกษา
จนถึงวันนี้ เวลาผ่านมาเกือบสองเดือนแล้ว แต่ผมยังจำได้ดีถึงรอยยิ้มของเด็กๆ บางครั้งที่นั่งอยู่ในร้านกาแฟ ดูแสงไฟยามค่ำคืนของเมืองเชียงใหม่ ก็นึกถึงแสงเทียนในบ้านไม้หลังเล็ก
กลิ่นดิน กลิ่นหญ้า ทำให้นึกถึงชีวิตที่นอนกลางดินกินกลางทราย
แม้มือของเด็กๆและครูชายแดนจะหยาบกร้านเปื้อนดินเปื้อนทรายบ้าง กินอยู่สกปรกไปบ้าง แต่นั่นไม่ใช่ตัวชี้วัดคุณค่าของคนเราเลย
น้ำใจ ความเสียสละ การเห็นคุณค่าของชีวิตเพื่อนมนุษย์ต่างหาก ที่ทำให้คนเรามีคุณค่าขึ้นมา
ชีวิตที่ชายแดนสอนผมมาแบบนี้ครับ.....
**********
ขอบคุณที่มาข้อมูล
คลิกฟังเพลง นักสู้ครูไทย >> http://www.youtube.com/watch?v=t0tT-BG7vZ8
สุดทางด่านซ้าย >> http://charyen.com/jukebox/play.php?id=30279
ขอบคุณที่มาเพลงwww.youtube.com