ที่มาจาก ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 46/2560 กระทรวงศึกษาธิการ
ศธ.ปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การได้มาของวิทยฐานะ
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ เตรียมปฏิวัติระบบวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใหม่ โดยน้อมนำพระราชกระแสฯ ด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การได้มาของวิทยฐานะ ซึ่งจะไม่เน้นจัดทำเอกสารผลงานวิชาการจำนวนมาก แต่เน้นระบบตอบแทนให้ครูที่มุ่งการสอนหนังสือ มีการประเมินทั้งคุณภาพและปริมาณการสอน โดยทดลองใช้และรับฟังความเห็น ก่อนประกาศใช้ภายใน 3 เดือนนี้ (หรือภายในเดือนพฤษภาคม 2560)
ขอบคุณภาพจาก เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันศุกร์ที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา ได้มีมติให้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขหลักเกณฑ์การได้มาของวิทยฐานะ โดยนำพระราชกระแสฯ ด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาใช้เป็นแนวทาง ความว่า “ปัญหาปัจจุบันคือ ครูมุ่งเขียนงานวิทยานิพนธ์ เขียนตำราส่งผู้บริหาร เพื่อให้ได้ตำแหน่งและเงินเดือนสูงขึ้น แล้วบางทีก็ย้ายไปที่ใหม่ ส่วนครูที่มุ่งการสอนหนังสือกลับไม่ได้อะไรตอบแทน ระบบไม่ยุติธรรม เราต้องเปลี่ยนระเบียบตรงจุดนี้ การสอนหนังสือต้องถือว่าเป็นความดีความชอบ หากคนใดสอนดี ซึ่งส่วนมากคือมีคุณภาพและปริมาณ ต้องมี reward” (5 ก.ค. 55) และ “ครูบางส่วนเวลาสอนนักเรียนจะสอนไม่หมดแต่เก็บไว้บางส่วน หากนักเรียนต้องการรู้ทั้งหมดวิชา ก็ต้องเสียเงินไปสมัครเรียนพิเศษกับครูท่านนั้น จะเป็นการสอนในโรงเรียนหรือส่วนตัวก็ตาม” (5 ก.ค. 55) นั้น
การประชุมครั้งนี้ ได้ร่วมพิจารณาแนวทางการแก้ไขหลักเกณฑ์การได้มาของวิทยฐานะ โดยนำพระราชกระแสฯ ด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาใช้เป็นแนวทาง ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้แก้ไขหลักเกณฑ์การได้มาของวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใหม่ให้เสร็จสิ้นและประกาศใช้หลักเกณฑ์ใหม่ภายใน 3 เดือน โดยหลักเกณฑ์ใหม่จะไม่มีการจัดทำด้วยเอกสารผลงานทางวิชาการจำนวนมาก แต่จะเป็นระบบที่ยุติธรรมสำหรับครู ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพในการสอน โดยใช้แฟ้มสะสมผลงานอิเล็กทรอนิกส์ (e-Portfolio) เป็นตัวนำ
โดยครูทุกคนทั้งประเทศจะมี ID และ Password สำหรับใช้ในการ Login เข้าไปบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลด้วยตนเอง ว่าสอนกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ผ่านการอบรมอะไรบ้าง ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษาจะเป็นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และความรับผิดชอบในการประเมินทั้งหมดจะจบที่สถานศึกษาหรือจังหวัดนั้น ๆ โดยไม่ต้องเสนอให้ส่วนกลางหรือ ก.ค.ศ.พิจารณา แต่ก็จะมีมาตรการควบคุมความรับผิดชอบของครูหรือผู้บริหารสถานศึกษา หากมีการฮั้วหรือรายงานเท็จ จะมีความผิดตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญาด้วย ถือเป็นการปฏิวัติระบบวิทยฐานะใหม่ของประเทศ
ทั้งนี้ ในช่วง 3 เดือน ก่อนที่จะประกาศใช้หลักเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะใหม่ ขอให้สำนักงาน ก.ค.ศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดให้มี Focus Group เพื่อรับฟังความเห็นว่า ระบบใหม่ขาดตกบกพร่องอย่างไรบ้าง ก่อนที่จะประกาศใช้จริง
จากการประชุมครั้งนี้ ทำให้รับทราบข้อมูลด้วยว่า มีข้าราชการครูจำนวนมากที่ไม่มีวิทยฐานะ แยกเป็นข้าราชการครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 33,190 คน หรือประมาณร้อยละ 10 ของครู สพฐ.ทั้งหมด ส่วนข้าราชการครูสังกัดสำนักงาน กศน. มีจำนวน 431 คน หรือประมาณร้อยละ 20 และข้าราชการครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่ยังไม่มีวิทยฐานะ รวม 4,198 คน หรือร้อยละ 30 สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากครูไม่มีเวลาทำผลงานทางวิชาการ และต้องเสียเวลาในการจัดทำเอกสารผลงานทางวิชาการจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ครูที่ขอรับการประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะจากเชี่ยวชาญเป็นเชี่ยวชาญพิเศษนั้น ยังคงจำเป็นต้องใช้หลักเกณฑ์เดิมคือ เน้นการจัดทำผลงานการวิจัย
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า หลักเกณฑ์ใหม่นี้ เชื่อว่าจะเป็นระบบที่สร้างความเป็นธรรมและค่าตอบแทนให้เกิดขึ้นกับครูที่มุ่งการสอนหนังสือ ซึ่งจะมีการกำหนดเกณฑ์ในการประเมินสำหรับครูที่มีปริมาณการสอนและคุณภาพการสอน เช่น การสอนเด็กพิเศษ ซึ่งมีการเตรียมการสอนที่ยุ่งยากกว่าสอนเด็กนักเรียนปกติทั่วไป ก็จะมีคะแนนเพิ่มขึ้น และการประเมินเพื่อคงวิทยฐานะ ก็จะยังคงมีอยู่ เพื่อสร้างมาตรฐานและจรรยาบรรณทางวิชาชีพครู แต่จะไม่ประเมินด้วยระยะเวลาถี่จนเกินไป ซึ่งจะพยายามลดภาระต่าง ๆ ในการประเมินสำหรับครูให้มากที่สุด ส่วนข้าราชการครูที่อยู่ระหว่างการยื่นผลงานเพื่อขอรับการประเมินวิทยฐานะที่ค้างท่อในเวลานี้กว่า 3,000 คนนั้น มอบ ก.ค.ศ.ไปพิจารณา ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับการพิจารณา ส่วนตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ที่ประชุมก็เห็นตรงกันว่าอาจจะเปลี่ยนไปใช้เงินประจำตำแหน่ง เพื่อสะท้อนความเป็นจริงและสอดคล้องกับระบบบริหารมาตรฐานสากล
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า หลักเกณฑ์ใหม่นี้สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องมีการแก้ไขกฎหมายอะไร ถือเป็นนิยามใหม่ของการประเมินวิทยฐานะครู ที่ไม่ใช่เป็นหลักเกณฑ์ Performance Agreement :PA ซึ่งเท่ากับยกเลิกเกณฑ์ PA และแนวทางใหม่นี้จะใช้ Portfolio เป็นตัวนำกับคน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มรายใหม่ที่จะขอรับการประเมินวิทยฐานะ กลุ่มที่ค้างการประเมินซึ่งมีประมาณ 3,000 คน และกลุ่มที่ได้รับวิทยฐานะไปแล้ว จะต้องมีการประเมินเพื่อคงวิทยฐานะเอาไว้เช่นเดิม
การใช้ Portfolio นี้ เป็นแนวทางในการประเมินผลตามสภาพจริง (Authentic Assessment) ซึ่งจะเป็นการบันทึกประวัติการพัฒนาวิชาชีพของครูทุกคน ทั้งปริมาณการสอน เช่น จำนวนชั่วโมงการสอน ความยากง่ายในการสอน การสอนเด็กพิเศษ การสอนในโรงเรียนกันดาร ซึ่งจะมีคะแนนที่แตกต่างกัน และคุณภาพการสอน ซึ่งจะดูจากผลของการพัฒนาตนเอง การเข้ารับการอบรมทางไกล การอบรมออนไลน์ ผลงานการสอนที่ได้จัดทำขึ้น ฯลฯ
พร้อมทั้งจะนำระบบ IT เข้ามาช่วยบันทึกรวบรวมข้อมูลของครูทุกคน เพื่อไม่ให้ครูต้องยุ่งยากในการจัดทำเอกสารหลักฐานอีก และในระหว่างนี้จะมีการรับฟัง ประชาพิจารณ์หลักเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะแนวใหม่ รวมทั้งเตรียมการจัดทำระบบ IT เพื่อรองรับ e-Portfolio และทดลองใช้ให้มั่นใจ ก่อนจะประกาศใช้หลักเกณฑ์ใหม่นี้ภายใน 3 เดือน
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
1/2/2560
ขอบคุณที่มาและอ่านเพิ่มเติมได้ที่ ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศีกษาธิการ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560