ห่วงรัฐบาลเลือกตั้งแทรกแซงมหาวิทยาลัย เผยนายกฯ เห็นด้วยแล้ว
ตามที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ตั้ง ศ.นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานคณะทำงานเตรียมและศึกษาการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษานั้น ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะคณะทำงานเตรียมความพร้อมการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา เปิดเผยว่า ศ.นพ.อุดม ได้ตั้งคณะทำงานซึ่งเป็นตัวแทนจากทุกฝ่ายเรียบร้อยแล้ว โดยจะประชุมนัดแรก วันที่ 3 ก.พ.นี้ คาดว่าจะใช้เวลาร่างกฎหมายไม่นาน โดยจะนำร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษาที่มีอยู่ 4 ฉบับทั้งของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.),คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.), ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.), และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มาพิจารณาและตัดสินใจจัดทำข้อเสนอถึง รมว.ศึกษาธิการ เพื่อเสนอ ครม.ต่อไป โดยต้องให้มีการจัดตั้งให้เสร็จในรัฐบาลนี้ เพราะทราบว่านายกรัฐมนตรี เห็นด้วยกับการจัดตั้งกระทรวงดังกล่าว
“ประเด็นใหญ่ที่คณะทำงานต้องตัดสินใจ มี 2 เรื่อง คือ 1.จะเป็นกระทรวงอุดมศึกษา หรือกระทรวงอุดมศึกษาและวิจัย โดยรวมหน่วยงานที่ทำวิจัย เช่น สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งนักวิจัยกว่า 95% เป็นคนของมหาวิทยาลัย และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งขึ้นกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ แต่นักวิจัยส่วนใหญ่ก็มาจากมหาวิทยาลัยเช่นกัน หากโอนมารวมกันกับเราจะยินยอมหรือไม่ ซึ่งต้องใช้เวลาในการเจรจากับกระทรวงวิทย์ฯ ดังนั้น แนวโน้มคือ คณะทำงานจะเสนอว่าคือไม่รวมหน่วยงานวิจัยเข้ามาในกระทรวงอุดมศึกษา” ศ.ดร.สมคิดกล่าว และว่า 2. ประเด็นที่สองคือ การหาจุดกึ่งกลางของอำนาจของ รมว.ศึกษาธิการ ในการเข้ามาแทรกแซงแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัยกับอำนาจของ กกอ. และความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราก็จะทำให้เสร็จในรัฐบาลนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลนี้ใช้ ม.44 ในการแทรกแซงเพื่อแก้ปัญหาธรรมาภิบาล ซึ่งก็ยอมรับว่ามีปัญหาจริงและเป็นข่าวใหญ่ แต่มีปัญหาในมหาวิทยาลัยไม่กี่แห่งเท่านั้น ซึ่งเรากลัวรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะขอใช้อำนาจแทรกแซงมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ การตั้งกระทรวงใหม่อาจส่งผลให้มีกระทรวงอื่นขอแยกตัวขึ้นด้วย เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็อาจขอแยกกระทรวงเช่นกัน.
ขอบคุณที่มาจาก ไทยรัฐ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560