ปัดนายกฯนั่งหัวโต๊ะ-จี้ดึงคนนอกช่วย แนะสร้างคนตั้งแต่ปฐมวัย
จากการประชุมสภาการศึกษาเสวนา OEC Forum หัวข้อ “รัฐธรรมนูญกับทิศทางการปฏิรูปการศึกษา” โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวตอนหนึ่งว่า ปัญหาในสังคมไทยเกิดจากระบบการศึกษา ดังนั้นบทบัญญัติการศึกษาตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงจำเป็นต้องเน้นการจัดการศึกษาตั้งแต่เริ่มต้น โดยมาตรา 54 รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปีตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และต้อง สร้างคนดีมีวินัย มีคุณธรรมจริยธรรมตั้งแต่ก่อนวัยเรียน
นายมีชัยกล่าวอีกว่า ตนมองว่าการพัฒนาเด็กตั้งแต่ก่อนวัยเรียนเป็นเรื่องสำคัญ ประเทศไทยยังขาดแคลนครูด้านนี้อยู่จึงอยากให้มหาวิทยาลัยผลิตครูด้านการศึกษาปฐมวัยให้มากขึ้น โดยกลุ่มองค์กรวิชาชีพ อาทิ คุรุสภา ไม่ควรไปกำหนดหลักสูตรการผลิตมากเกินไป เพราะเหมือนเป็นการปิดกั้นการคิดค้นองค์ความรู้ใหม่ๆ ดังนั้นรัฐธรรมนูญในหมวดที่เกี่ยวข้องมีการระบุว่า องค์กรวิชาชีพไม่มีสิทธิก้าวก่ายการจัดทำหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษา แต่ควรทำหน้าที่ให้คำแนะนำมากกว่า ส่วนกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบันทำงานแบบองค์กรหลักที่ต่างคนต่างคิด ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษาต้องล้มเลิกความคิดแบบแบ่งแท่ง และคิดเป็นกระบวนการพัฒนาที่เริ่มต้นจากเด็ก ครู และโรงเรียน ให้เป็นการทำงานแบบเชื่อมโยง
“การมีระดับ 11 ใน ศธ.กี่คน ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่เมื่อมีแล้วต้องดูว่าเป็นอุปสรรคต่อการจัดการศึกษาหรือไม่หากพบว่าเป็นปัญหาก็ต้องทำไม่ให้กระทบต่อการจัดการศึกษา และระดับ 11 ควรเป็นผู้ปฏิบัติงานมากกว่า อีกทั้งการปฏิรูปการศึกษาต้องเป็นคนนอก เพราะคนในวงการศึกษาจะมองไม่ทะลุปัญหาเพราะคิดในกรอบ และประธานคณะทำงานด้านปฏิรูปการศึกษาก็ไม่ควรเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะคนจะเกรงใจจนไม่กล้าเสนอความคิดเห็น” นายมีชัยกล่าว.
ขอบคุณที่มาจาก ไทยรัฐ 31 ม.ค. 2560
ด้านหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ก็ได้นำเสนอข่าวนี้เช่นกัน ดังนี้ครับ
"มีชัย"ฟันธงปฏิรูปศึกษาต้องล้มระบบ"แท่ง"
ถึงจะแจ้งเกิดได้ย้ำต้องใช้คนนอกศธ.มีมุมมองทะลุกรอบเป็นกก.อิสระวางทิศพัฒนา
"มีชัย" ชี้ปฏิรูปการศึกษาเกิดขึ้นได้ต้องล้มระบบแท่ง และให้คนนอก คณะกรรมการอิสระมาเป็นผู้กำหนดทิศทาง ส่วนประธานปฏิรูปฯ ต้องไม่ใช่นายกรัฐมนตรี โดย 2 ปีหลัง รธน.ประกาศใช้จะเห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น
ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) มีการจัดประชุมสภาการศึกษาเสวนา OEC Forum หัวข้อ "รัฐธรรมนูญกับทิศทางการปฏิรูปการศึกษา" โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวปาฐกถาเรื่อง "รัฐธรรมนูญกับทิศทางการปฏิรูปการศึกษา" ตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาเราพยายามเลียนแบบการพัฒนาการเรียนการสอนจากต่างประเทศ แต่เหตุใดประเทศไทยจึงยังอยู่กับที่ ขณะที่หากเรามองประเทศในภาพรวมจะพบว่า ประเทศเรามีปัญหาความไม่สงบเกิดขึ้นในการดำรงชีวิต เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และการไม่สนใจไยดีที่จะทำตามกฎข้อบังคับของกฎหมาย รวมถึงการแสวงหาอำนาจในทางไม่ชอบ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดจากระบบการศึกษา เพราะการศึกษาถือเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปประเทศ ดังนั้นบทบัญญัติการศึกษาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น จึงมีความจำเป็นต้องเน้นการจัดการศึกษาตั้งแต่เริ่มต้น โดยในมาตรา 54 ที่รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
"ผมเห็นว่าการพัฒนาเด็กตั้งแต่ก่อนวัยเรียนเป็นเรื่องสำคัญ อยากให้มหาวิทยาลัยผลิตครูในด้านการศึกษาปฐมวัยให้มากขึ้น เพราะการศึกษาปฐมวัยเป็นเรื่องสำคัญ และไทยยังขาดอัตรากำลังครูในส่วนนี้อยู่ นอกจากนี้ ในการผลิตครูของมหาวิทยาลัยพวกกลุ่มองค์กรวิชาชีพ เช่น คุรุสภา จะต้องอำนวยความสะดวกให้แก่มหาวิทยาลัย ไม่ควรไปกำหนดหลักสูตรการผลิตมากเกินไป เพราะเหมือนเป็นการปิดกั้นสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นหน่วยงานคิดค้นองค์ความรู้ใหม่ๆ ดังนั้นในรัฐธรรมนูญหมวดที่เกี่ยวข้องจึงมีการระบุว่า องค์กรวิชาชีพไม่มีสิทธิ์ก้าวก่ายการจัดทำหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษา แต่ควรทำหน้าที่ให้คำแนะนำมากกว่า" ประธาน กรธ.กล่าว
นายมีชัยกล่าวอีกว่า ตามวรรค 4 ของรัฐธรรมนูญ มีเป้าหมายการศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ดังนั้นการจะสร้างคนดี มีวินัย มีคุณธรรม จริยธรรม จะต้องเริ่มสร้างกันตั้งแต่เด็กก่อนวัยเรียน อย่างไรก็ตาม การจะบรรลุเป้าหมายได้นั้นจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กลไกหลักยังคงเป็นแท่ง ซึ่งแต่ละแท่งมีอาณาจักรของตัวเอง และในภาพรวมไม่มีการคิดเชื่อมโยงการพัฒนาเพื่อไปสู่เด็ก ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาจึงต้องทลายแท่งที่ถือว่าเป็นกำแพงการพัฒนา เหมือนคล้ายๆ การล้ม ศธ. แต่ไม่ได้ล้มจริงๆ
ประธาน กรธ.กล่าวอีกว่า ดังนั้น เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาเป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่จริงๆ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่คนระดับ 11 มากำหนดนโยบาย แต่จะต้องเป็นคนนอกที่ไม่ใช่คนในวงการศึกษา เพราะคนในวงการศึกษาจะชอบคิดในกรอบ มองไม่ทะลุปัญหา ดังนั้นเราจะต้องหาคนที่สนใจการศึกษาจากข้างนอกให้เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูป รวมถึงประธานคณะทำงานด้านปฏิรูปการศึกษาก็ไม่ควรจะเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะคนจะเกรงใจจนไม่กล้าเสนอความคิดเห็น กรธ.จึงกำหนดให้คณะรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาคณะหนึ่ง และต้องทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปีหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ซึ่งคณะกรรมการอิสระชุดนี้จะทำหน้าที่กำหนดนโยบายการศึกษาให้อยู่ในทิศทางเดียวกัน
"เราต้องใช้คนนอก รู้เรื่องการศึกษา และใจกว้างพอสมควร เพื่อมารับฟังและสรุปให้ได้ผลที่ทุกคนรับได้ ไม่มีการคิดถึงแต่หน่วยงานของตนเอง ให้คิดถึงการศึกษาเป็นหลัก" นายมีชัยกล่าวย้ำ.
ขอบคุณที่มาจาก ไทยโพสต์ วันที่ 31 มกราคม 2560