"มีชัย"ชี้ปฎิรูปการศึกษาต้องใช้คนนอกเข้ามาจัดการ คนในรู้ดีแต่มองปัญหาไม่ทะลุ แม้แต่นายกฯก็ไม่ควรนั่งประธานปฏิรูปการศึกษา เพราะคนจะเกรงใจไม่กล้าออกความเห็น
วันนี้ (30 ม.ค.) ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุม “สภาการศึกษาเสวนา OEC Forum หัวข้อ“รัฐธรรมนูญกับทิศทางการปฏิรูปการศึกษา” โดย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า การศึกษาเป็นหัวใจสำคัญของการปฎิรูปประเทศ หากเรามองประเทศในภาพรวมจะพบว่า ประเทศเรามีปัญหาที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และการไม่สนใจที่จะทำตามกฎหมาย รวมถึงการแสวงหาอำนาจ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดจากระบบการศึกษาทั้งสิ้น ดังนั้นบทบัญญัติการศึกษาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้องเน้นการจัดการศึกษาตั้งแต่เริ่มต้น
นายมีชัย กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาเด็กตั้งแต่ก่อนวัยเรียนเป็นเรื่องสำคัญ แต่การพัฒนาเด็กปฐมวัยก็ยังไม่มีเจ้าภาพ จึงอยากให้มหาวิทยาลัยผลิตครูด้านการศึกษาปฐมวัยให้มากขึ้น เพราะเราก็ยังขาดครูส่วนนี้อยู่ขณะเดียวกันองค์กรวิชาชีพอย่างคุรุสภา ก็ต้องอำนวยความสะดวกให้มหาวิทยาลัย ไม่ควรเข้าไปกำหนดหลักสูตรการผลิตมากเกินไป เพราะจะเป็นการปิดกั้นสถาบันอุดมศึกษาในการคิดค้นองค์ความรู้ใหม่ ๆ ซึ่งในรัฐธรรมนูญหมวดที่เกี่ยวข้องก็ได้ระบุว่า องกรค์วิชาชีพไม่มีสิทธิก้าวก่ายการจัดทำหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษา แต่ควรทำหน้าที่ให้คำแนะนำ
"ผมมองว่าวันนี้กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ทำงานแบบองค์กรหลักที่ต่างคนต่างคิด แต่การปฎิรูปการศึกษาจะต้องเลิกความคิดแบบแบ่งแท่ง และคิดเป็นกระบวนการพัฒนาที่เริ่มต้นจากเด็ก ครู และโรงเรียน ให้เป็นการทำงานแบบเชื่อมโยง การมีระดับ 11 กี่คนไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่เมื่อมีแล้วต้องดูว่า เป็นอุปสรรคต่อการจัดการศึกษาหรือไม่ ระดับ 11 ต้องไม่ใช่มากำหนดนโยบายแต่ควรเป็นผู้ปฎิบัติงานมากกว่า อีกทั้งการปฎิรูปการศึกษาต้องเป็นคนนอกที่ไม่ใช่คนในวงการศึกษา เพราะคนในจะชอบคิดในกรอบมองไม่ทะลุปัญหา นอกจากนี้ประธานคณะทำงานปฎิรูปการศึกษาก็ไม่ควรจะเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะคนจะเกรงใจจนไม่กล้าเสนอความคิดเห็น"นายมีชัยกล่าวและว่า อย่างไรก็ตามสิ่งที่ตนอยากเห็นในการปฎิรูปการศึกษา คือ ไม่ใช่การสอนความรู้พื้นฐานให้แก่เด็กเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญ คือ ต้องปลูกฝังให้เด็กเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 30 มกราคม 2560