"การุณ"เผย ครูอุ๊-ครูพี่แนน-แอนดูรว์ บิ๊กส์-คริสโดเฟอร์ ไรท์ รับปากร่วมโครงการอัดซีดีสอนเด็กในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล ทำซีดีในแต่ละวิชาเป้น 3 ระดับ สอนตามพื้นฐานเด็กที่แตกต่างกัน
วันนี้ (24 ม.ค.) นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้าการจัดทำซีดีและเอกสารประกอบการเรียนจากติวเตอร์ เพื่อให้นักเรียนในพื้นที่ห่างไกลได้มีโอกาสเรียนเช่นเดียวกับนักเรียนในเมือง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะประชุมร่วมกับสถาบันกวดวิชาในวันที่ 25 ม.ค.นี้ เพื่อหารือถึงแนวทางและการเตรียมการจัดทำซีดี โดยเบื้องต้น สพฐ.จะเสนอให้จัดทำซีดีใน 4 วิชาหลัก คือภาษาอังกฤษ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เริ่มตั้งแต่ระดับชั้น ป.1-ม. 6 อย่างไรก็ตามเนื่องจากนักเรียนในโรงเรียน สพฐ.ยังมีความแตกต่างกัน จึงมีข้อห่วงใยว่าหากมีการจัดทำซีดีเหมือนกับที่ใช้ในสถาบันกวดวิชาอาจจะมีปัญหาเด็กตามไม่ทัน สพฐ.จึงมีข้อสรุปเบื้องต้นว่าควรจะมีการจัดทำซีดีในแต่ละวิชาเป็น 3 ระดับ คือ ระดับพื้นฐานสำหรับเด็กเรียนอ่อนที่ต้องปรับพื้นฐาน ระดับปานกลาง และระดับสำหรับเด็กเก่ง
“ผมจะขอให้สถาบันกวดวิชาจัดทำซีดีเป็น 3 ระดับ เพื่อให้เด็กโดยเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ที่ไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับติวเตอร์เหล่านี้ ได้มีโอกาสเรียนปรับพื้นฐานและพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จากซีดีการสอนของติวเตอร์ชื่อดัง และนอกจากเด็กในพื้นที่ห่างไกลจะได้มีโอกาสเรียนกับติวเตอร์ชื่อดังแล้ว ที่สำคัญผลดีที่จะได้รับ คือครูของเราจะเก่งขึ้นไปด้วย เพราะครูจะต้องเป็นส่วนหนึ่งในการเข้ามาดูแลการเรียนการสอน จะทำให้ครูได้เรียนรู้เทคนิคการสอนวิชายากๆให้เด็กสามารถเข้าใจได้ง่ายๆจากติวเตอร์เก่งๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับการเรียนการสอน” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
นายการุณ กล่าวด้วยว่า สำหรับติวเตอร์ที่จะเข้ามาร่วมจัดทำซีดีในครั้งนี้ นายกฯให้นำติวเตอร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทยมาร่วม ซึ่งที่ตอบรับมาแล้วคือ ครูอุ๊ วิชาเคมี ครูพี่แนน แอนดูรว์ บิ๊กส์ และคริสโดเฟอร์ ไรท์ วิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งจะจัดหาทีมมาช่วย ทั้งนี้หลังได้ข้อสรุปในการจัดทำซีดีแล้ว สพฐ.จะมาวางระบบในการบริหารจัดการ ซึ่งครูจะยังคงสอนปกติโดยนำซีดีดังกล่าวมาใช้ในการสอนเสริม แต่หากโรงเรียนใดขาดครูก็สามารถนำซีดีมาใช้สอนแทนครูได้ อย่างไรก็ตามในการดำเนินงานเฟสแรก สพฐ.จะเปิดโอกาสให้โรงเรียนสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะเป็นเด็กด้อยโอกาสและมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ยืนยันว่าจะไม่ซ้ำซ้อนกับเด็กในเมืองที่พ่อแม่มีฐานะและส่งลูกเรียนกวดวิชาอยู่แล้วอย่างที่หลายฝ่ายห่วงใยอย่างแน่นอน.
ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 24 มกราคม 2560