นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ หลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่มี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน มีมติเป็นเอกฉันท์ ปรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกบุคลากรเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ …
หลักเกณฑ์ใหม่จะดูเรื่องการสอบข้อเขียนให้น้อยลง พิจารณาจากประวัติการทำงาน ผลงาน และศักยภาพการทำงาน โดยจะมีทีมผู้เชี่ยวชาญ มาเป็นผู้ประเมิน
ซึ่งเมื่อผ่านการพิจารณาประวัติการทำงาน และการประเมินผลงานแล้ว จะมีการขึ้นบัญชี เพื่อเข้าสู่การประเมินศักยภาพ ดูความเป็นผู้นำ
และเมื่อได้รับการบรรจุแต่งตั้งแล้ว ต้องเข้ารับการประเมินการปฏิบัติงานในพื้นที่เป็นเวลา 1 ปี เช่นเดียวกับการสอบคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษาครั้งที่ผ่านมา
จากเดิมที่การคัดเลือกผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ และรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ จะใช้การสอบคัดเลือกเกือบ 100% ทำให้เกิดข้อครหา ว่าทำให้คนมุ่งแต่สอบเพื่อเป็นผู้บริหารเขตพื้นที่ฯ ระบบคัดเลือกโดยใช้วิธีกรสอบ ทำให้ไม่สามารถคัดคนที่มาทำงานได้จริง
และมีปัญหาการทุจริตเข้ามาเกี่ยวข้อง!!!
นพ.ธีระเกียรติ อธิบายถึงการปรับหลักเกณฑ์ครั้งนี้ ว่า ถือเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ ในการเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารเขตพื้นที่ฯ โดยจะดูการสอบข้อเขียนเพียงส่วนหนึ่ง แต่จะพิจารณาจากประวัติการทำงาน ผลงาน และประเมินศักยภาพเป็นหลัก
มั่นใจว่า วิธีการนี้จะมีความยุติธรรม และไม่มีปัญหาการทุจริต ซึ่งต่อไปจะไม่มีการเปิดสอบผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ และรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ พร้อมกันทั่วประเทศ เช่นที่ผ่านมา
หากเขตพื้นที่ฯ ใดมีอัตราว่างก็สามารถเปิดสอบได้ทันที เพราะคะแนนสอบถือเป็นส่วนน้อย ใช้ในการพิจารณาแค่ 10%
และในอนาคต อาจจะพัฒนาการสอบให้เป็นไปในรูปแบบเดียวกับการสอบรับข้าราชการของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) คือ เปิดสอบข้อเขียนได้หลายรอบ เพื่อขึ้นบัญชีไว้ก่อน และหากเขตพื้นที่ฯ ใดต้องการเปิดรับก็สามารถเรียกตัวทันที
ซึ่งทันทีที่มติดังกล่าวออกไป ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ในแวงวงการศึกษา…
โดย นายอดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา อดีตคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการปรับหลักเกณฑ์ครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า ส่วนตัวเห็นด้วยในหลักการ แต่ยังมีข้อห่วงใยเรื่องปัญหาธรรมาภิบาล ที่สำคัญรัฐบาล และ ศธ. ควรต้องทำให้ชัดเจนว่า เมื่อมีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) แล้ว ต่อไปจะไม่มีการยุบสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ไม่ใช่สรรหาผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ คนใหม่ได้แล้ว มายุบเลิกภายหลัง อาจทำให้เกิดปัญหาตามมา
ขณะที่หลักเกณฑ์สรรหาผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ใหม่ ก็ยังไม่ชัดเจนว่า ผู้ที่มีคุณสมบัติเข้ารับการสรรหาเป็นคนกลุ่มใดบ้าง โดยตนอยากให้เปิดกว้าง ให้ข้าราชการ ศธ. จากสังกัดอื่น อาทิ สำนักงานปลัด ศธ. ได้มีโอกาสเข้ารับการสรรหาด้วย ไม่ใช่กระจุกตัวอยู่แค่เพียงคนในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เท่านั้น
ส่วนวิธีการคัดเลือกที่จะลดการสอบลงนั้น ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ดี เพราะการใช้ข้อสอบคัดเลือกคนเข้ามาเป็นผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ที่ผ่านมาทำให้ได้คนที่ทำงานไม่เป็น เพราะมุ่งแต่จะสอบ ไม่ได้ดูจากผลการทำงาน ซึ่งแนวทางคัดเลือกผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ตามหลักเกณฑ์ใหม่นี้ จะตอบโจทย์ สามารถคัดคนมาทำงานได้ตามความสามารถ แต่กระบวนการสอบสัมภาษณ์ อาจจะเกิดปัญหาธรรมาภิบาล ทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ การใช้เส้นสาย
ดังนั้น ขั้นตอนการสอบสัมภาษณ์เพื่อประเมินภาวะความเป็นผู้นำ ตนอยากให้นักวิชาการที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียและไม่ใช่ผู้บริหารของ ศธ. มาเป็นผู้สอบสัมภาษณ์แทน เพราะแม้จะให้ข้าราชการระดับสูงที่ไม่อยู่ในสังกัด สพฐ. มาสอบสัมภาษณ์ แต่ทุกวันนี้คน สพฐ. กระจายไปอยู่ในทุกองค์กรหลัก ซึ่งต้องยอมรับว่า เป็นที่รู้จักและคุ้นเคยกัน รวมถึงอยากให้มีกระบวนการทดสอบอื่นๆ มาใช้ประเมินภาวะความเป็นผู้นำด้วย
ส่วนที่ นพ.ธีระเกียรติ เห็นว่า ควรใช้แนวทางนี้ในการคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษาด้วยนั้น ตนคิดว่า ควรรอดูผลการคัดเลือกผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ครั้งนี้ก่อน ว่าเป็นไปในทิศทางใด แต่ส่วนตัวไม่อยากให้การสอบคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็นระบบเดียวกันทั่วประเทศ แต่ควรให้เป็นไปตามบริบทของแต่ละท้องที่
โดยให้คณะกรรมการสถานศึกษาเข้ามามีส่วนคัดเลือกผู้อำนวยการโรงเรียนด้วย!!!
ระบบการคัดเลือกถือเป็นหัวใจสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของคนในวงการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น การคัดเลือกครูผู้ช่วย การคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษา และรองผู้อำนวยการสถานศึกษา มาจนถึงการคัดเลือกผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ และรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ซึ่งทั้งหมดล้วนมีแต่ข้อครหาในเรื่องการทุจริตในการสอบคัดเลือก ปัญหาการเล่นพรรค เล่นพวก ทำให้ไม่สามารถคัดคนที่มีความสามารถมาทำหน้าที่ได้จริง
ถือเป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้ระบบการศึกษาไทยล้มเหลวมาโดยตลอด…
ดังนั้น ทิศทาง การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จึงถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะหากระบบการคัดเลือกผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ และรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ตามหลักเกณฑ์ใหม่ สามารถคัดเลือกคนที่มีศักยภาพ และมีความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นผู้บริหารเขตพื้นที่ฯ ซึ่งถือเป็นหน่วยงานสำคัญในการดูแลครูและบุคลากรทางการศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็เชื่อว่า ระบบการคัดเลือกอื่นๆ ที่จะปรับตามมา จะสามารถคัดคนดีเข้ามาทำงานพัฒนาการศึกษาได้มากขึ้น!!!
ขอบคุณที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 มกราคม 2560
วันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ.2560