คนไทยมีวิญญาณศิลปินและทักษะทางศิลปะไม่แพ้ชาติใดในโลก ดูได้จากผลงานด้านจิตกรรม ปฏิมากรรม สถาปัตยกรรม ช่างสิบหมู่ วัดวาอาราม ภาพวาด สิ่งปลูกสร้าง เป็นที่ชื่นชมของผู้คนจากทั่วโลก
เราพบเห็นเด็กที่เก่งทางด้านศิลปะ ซึ่งเป็นการแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ ผลงานด้านการวาดภาพได้รับรางวัลระดับโลกมากมาย แต่ดูเหมือนว่า ยิ่งโตขึ้น ยิ่งไปโรงเรียนนานขึ้น ความสามารถด้านศิลปะและการสร้างสรรค์ลดลง หรือว่าการศึกษาของเราทำลายพลังสร้างสรรค์เหล่านี้
วิชาการบอกว่า สมองซีกขวาเป็นพลังสร้างศิลปะ ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง การเห็นภาพสามมิติ การมีจิตนาการ ทักษะด้านดนตรี ควบคุมการทำงานของมือซ้าย
สมองซีกซ้ายเป็นการใช้เหตุผล การเขียน การอ่าน การใช้ภาษา ทักษะด้านตัวเลข ด้านวิทยาศาสตร์ ควบคุมการทำงานของมือขวา
แต่สมองทั้งสองด้านก็ไม่ได้ทำงานแบบแยกส่วน มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน และมีความซับซ้อนในระบบสมองโดยรวม ความคิดสร้างสรรค์จึงไมได้มาจากสมองด้านขวาเท่านั้น คนที่มีสมองด้านซ้ายดีก็มีความคิดสร้างสรรค์และผลงานดีๆ ได้ถ้าหากได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสมทั้งสองด้าน
“การพัฒนาอย่างเหมาะสม” ที่ว่านี้ขึ้นอยู่กับความเข้าใจเรื่อง “ความรู้” ความเชื่อเดิมของไทยคือ ความรู้มีอยู่แล้ว (objective truth) มีคนไปค้นพบและเอามาบอกเราผ่านหนังสือตำรา ครูก็จะนำความรู้ดังกล่าวไปถ่ายทอดให้ศิษย์ ศิษย์ก็เชื่อครู เชื่ออาจารย์ ท่องจำความรู้ ส่วนใหญ่ก็ไมได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะคิดว่าท่องกันได้ จึงถ่ายทอดกันทางการบอกเล่าบอกต่อ
ความจริง ในสมัยโบราณก็มีการประยุกต์ของเก่า สร้างความรู้ใหม่ แต่ช้าและนานมากกว่าจะเกิดขึ้น พอๆ กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ไม่ได้รวดเร็วอย่างวันนี้
วิถีชีวิตของคนยุคนี้ที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้เราเข้าสู่สังคมใหม่ แต่ยังคิดเหมือนเดิม เอาวิชาความรู้ตะวันตกมาใช้ก็คิดว่าของเขาดีแล้ว เอามาแบบท่องจำ ไม่ได้แยกแยะ ไม่ได้วิเคราะห์วิจารณ์ ไม่ได้คิดจะสร้างความรู้ใหม่หรือนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับภูมิสังคมของตน
ถ้าจะเข้าใจที่มาของการพัฒนาแบบตะวันตกที่ครอบงำโลกวันนี้ ต้องย้อนกลับไป 2,500 ปีก่อน ที่ชาวกรีกเริ่มตั้งคำถามใหม่เกี่ยวกับโลก เกี่ยวกับชีวิต พวกเขาหาคำตอบใหม่ที่แตกต่างจากเดิมที่มีคำตอบสำเร็จจากตำนานหรือเทพปรณัม (mythology) นั่นคือกำเนิดของ “ปรัชญา” กำเนิดของ “ความรู้ใหม่”
ปรัชญากรีกสร้างรากฐานวิธีคิดให้ตะวันตกอยู่หลายร้อยปี ก่อนที่ศาสนาคริสต์จะเติบโตและมีบทบาทในวิถีชีวิต วิธีคิดของคนตะวันตก ซึ่งดูเหมือนจะกลับไปสู่ยุคกรีกโบราณที่มีคำตอบทุกอย่างที่ตำนาน คน “ยุโรป” ในยุคกลางมีคำตอบทุกอย่างจากพระคัมภีร์ไบเบิล
จนถึงศตวรรษที 14-15 ที่เริ่มมี “การเกิดใหม่” (Renaissance) ของความรู้ ยุคที่มีชื่อว่า “ยุคฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรม” เกิดมีการสร้างความรู้ใหม่ เกิดวิทยาศาสตร์ การปฏิวัติอุตสาหกรรม เกิดประชาธิปไตยและการค้นพบใหม่ๆ สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
หัวใจของการปฏิรูปหรือปฏิวัติทางสังคมในประวัติศาสตร์ของโลกตะวันตกที่ครอบโลกทั้งหมดวันนี้ คือ การสร้างความรู้ใหม่ ซี่งมาจากกระบวนการตั้งคำถามใหม่ หาคำตอบใหม่ ถึงได้รู้ว่าโลกไม่ได้แบนแต่กลม ดวงอาทิตย์ไม่ได้หมุนรอบโลก แต่โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ และอื่นๆ
ถึงมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างกาลิเลโอกับศาสนจักร ระหว่างทฤษฎีวิวัฒนาการอย่างชาร์ลส์ ดาร์วินเพราะคริสต์ศาสนจักรในยุคนั้นที่อ้างว่ามีคำตอบทุกอย่างแล้วในพระคัมภีร์ไบเบิล
คนไทยไม่ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่ามีความเชื่อในวีธีคิดแบบโบราณว่า ความรู้มีอยู่แล้ว เพียงแต่เราไปเอามาถ่ายทอดให้เด็กนักเรียน แต่ในทางปฏิบัติเราก็ทำเช่นนั้น เรายังมีแต่ครูที่ “สอน” เราไม่มีครูที่ “จัดกระบวนการเรียนรู้” สถานศึกษาทั้งหลายจึง “สอนมากแต่เรียนน้อย” (ถึงพูดแบบแปลกๆ ว่า ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ แปลว่า เวลาเรียนไม่ได้รู้ ถ้าจะรู้ต้องไปฏิบัติ ?) ทำให้เราได้นักเรียนที่ถนัดแต่ท่องจำ ไม่ถนัดในการคิด การวิเคราะห์ สังเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์
การศึกษาแบบนี้กดทับศักยภาพที่แท้จริงของเด็กไว้ โตขึ้นมาก็คิดสร้างสรรค์ไม่เป็น คิดเป็นเหตุเป็นผลไม่เป็น ใช้ความรู้สึก ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล ด้านหนึ่งดูคนไทยใจดีมีเมตตา ใจบุญสุนทาน แต่อีกด้านหนึ่งก็เหมือนคนที่เก็บกด ทะลุกลางป้อง ระเบิดออกมาเป็นความรุนแรง ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ อย่างที่เป็นข่าวทุกวัน มีการตีกัน ฆ่ากัน เกิดอุบัติเหตุ และความรุนแรงสารพัดรูปแบบ รวมทั้งทางการเมือง
คนไทยมีวิญญาณศิลปินที่สะท้อนให้เห็นพลังภายในอันยิ่งใหญ่ เป็นพลังของวิญญาณเสรี แต่ถ้าไม่มีการใช้เหตุผลไปด้วย ก็จะกลายเป็นคนไม่มีวินัย ไม่เคารพกฎกติกา ทำอะไรตามใจชอบ มักง่าย ประมาท แบบโศกนาฎกรรมทั้งหลายที่เป็นข่าวทุกวัน
วันนี้เด็กไทย ต้องรู้ไม่เพียงแต่ภาษาไทย ภาษาอังกฤษและภาษาไอที แต่ต้องเรียนรู้ภาษานามธรรม หรือ concept ต่างๆ (ความคิดรวบยอด มโนทัศน์) เพราะคอนแซปต์เหล่านี้ คือ เครื่องมือในการคิด การวิเคราะห์ การวิพากษ์วิจารณ์ การถกเถียง การตั้งคำถาม การหาคำตอบ การนำไปสู้การคิดใหม่ สร้างความรู้ใหม่ การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง
ถ้าครูคิดเป็น รู้เรื่องการสร้างความรู้ใหม่ จัดกระบวนการเรียนรู้ ให้นักเรียนรู้วิธีการเรียน วิธีการหาข้อมูลซึ่งมีมากมายเต็มไปหมด รู้วิธีการเชื่อมโยงข้อมูลให้เป็นความรู้ การนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติและการตกผลึกทางปัญญา การศึกษาจะเปลี่ยน สังคมจะเปลี่ยน
เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
ขอบคุณที่มาจาก สยามรัฐออนไลน์ 18 มกราคม 2560